xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาลเเจง 2 อดีตว่าที่ กกต.สายศาลที่ถูก สนช.ตีตก มีคุณสมบัติลงสมัครได้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - โฆษกศาลเเจงข้อกฎหมาย 2 อดีตว่าที่ กกต.สายศาลที่ถูก สนช.ตีตก ลงสมัครได้อีก ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้ กกต.สายศาลเป็นการ “คัดเลือก” ไม่ใช่ “สรรหา”

วันนี้ (22 มี.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเคยลงมติคัดเลือกให้สมควรเป็น กกต.มาแล้ว แต่ถูก สนช.ลงมติไม่เห็นชอบ จนขั้นตอนกลับไปเปิดรับผู้สมัคร กกต.สายศาลใหม่ ปรากฏว่าทั้งนายฉัตรไชยและนายปกรณ์ได้ลงสมัครคัดเลือกเป็น กกต.อีกรอบ ว่าตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 12 วรรค 8 บัญญัติว่า

“ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่เเทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้” ซึ่งวิธีการดำเนินการเพื่อให้ได้มาเรื่องว่าที่ กกต.นั้นจะมีอยู่ 2 ทาง คือ การสรรหาและการคัดเลือก โดยมาตรา 12 วรรค 8 ตรงนี้บัญญัติตรงบทห้ามไว้แต่เพียงว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหารายใดที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบตรงนี้กฎหมายเขียนห้ามไว้อย่างชัดเจนที่จะเข้ารับการสรรหาซ้ำไม่ได้ แต่ในส่วนที่เป็นการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากฎหมายไม่ได้เขียนห้ามไว้ ผู้สมัครทั้ง 2 คนจึงสมัครเข้าคัดเลือกในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากผ่านการคัดเลือกก็ต้องส่งให้วุฒิสภา ที่ปัจจุบัน สนช.ทำหน้าที่นี้ เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบด้วย กรรมการ 7 คน โดยจำนวน 5 ใน 7 คนจะได้รับการ “สรรหา” จากคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย 1. นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการจะประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เเละผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ, ประธานศาลปกครองสูงสุด,บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด องค์กรละ 1 คน โดยให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา โดยจะคัดเลือกผู้ได้รับการสรรหาจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่ยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนอีก 2 คนที่เหลือจะ “คัดเลือก” จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเคยตำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้สาเหตุที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบรอบดังกล่าวเพราะ สนช.เกรงว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากมีข้อทักท้วงว่าการลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่เลือกนายฉัตรไชย และนายปกรณ์ ไม่ใช่การลงมติแบบเปิดเผย จึงอาจเกรงว่าจะเกิดปัญหาในขั้นตอนการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หรือถูกตีตกไปหากมีคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้ สนช.เทเสียงโหวตไม่เห็นชอบทั้งสองคน

อย่างไรก็ตาม ในการคัดเลือก กกต.สายศาลรอบนี้ ได้มีการออกระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 เพิ่มเติมเป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

ระเบียบดังกล่าวเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมการลงมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. จากระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 เดิม ในข้อ 10 เป็นว่า “การลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต.ตามข้อ 11 ให้กระทำโดยเปิดเผย ด้วยการทำเครื่องหมายกากบาท (X) อย่างชัดเจน ลงหน้าชื่อตัว และชื่อสกุลผู้ซึ่งตนเลือก จำนวนไม่เกิน 2 คน หรือจำนวนเท่าที่ยังขาดอยู่ในบัตรเลือกที่จัดไว้ ซึ่งระบุชื่อตัว และชื่อสกุล ลำดับหมายเลขตามบัญชีอาวุโสในศาลฎีกา แล้วบัตรเลือกไปมอบให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและนับคะแนน เพื่อดำเนินการนับคะแนนต่อไป” โดยระเบียบศาลฎีกาดังกล่าวยังระบุว่า ให้เลขานุการศาลฎีกาเป็นผู้เก็บรักษาบัตรเลือกไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และหากไม่มีการโต้แย้งการคัดเลือกเป็น กกต. ก็ให้ดำเนินการทำลายบัตรเลือกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบัญ พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ ประธานศาลฎีกายังได้ลงนามในคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและนับคะแนนรวม 5 คน ซึ่งเป็นระดับผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด โดยมีนายธนิต รัตนะผล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ

ผู้พิพากษา 5 รายที่ยื่นสมัครคัดเลือก กกต.สายศาล รอบใหม่ ประกอบด้วย

1. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้ที่ทางศาลฎีกาเคยลงมติเลือกให้ไปเป็น กกต. แต่ถูก สนช.ลงมติไม่เห็นชอบ นายฉัตรไชย เกิดวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2496 อายุ 64 ปี 6 เดือน จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนติบัณฑิตไทย ในปีเดียวกัน คือ ปี 2519 คู่สมรส คือ นางนุจรินทร์ จันทร์พลายศรี ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เพิ่งได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการในการลงคะแนนรอบล่าสุดที่ผ่านมา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษา ภาค 1, ผู้พิพากษาศาลฎีกา กรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ชั้นศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, กรรมการตุลาการ (ก.ต.) ชั้นศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, ก.ต.ชั้นศาลอุทธรณ์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

2. นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา อายุ 63 ปี ผู้ที่ทางศาลฎีกาเคยลงมติเลือกให้ไปเป็น กกต. แต่ถูก สนช.ลงมติลับไม่เห็นชอบเช่นเดียวกับนายฉัตรไชย โดยนายปกรณ์เกิดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 อายุ 63 ปี จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำเเหง พ.ศ. 2518 เเละปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. 2548 เคยดำรงตำเเหน่งสำคัญ เช่น รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9, รองประธานศาลอุทธรณ์ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ตามประวัติไม่เคยมีบุคคลในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบวินัยในตำเเหน่งผู้พิพากษามาก่อน

3. นายเกษม เกษมปัญญา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ภาค 1 เกิดวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ปัจจุบันอายุ 66 ปี วุฒิการศึกษา ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2518 ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2547 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา (ชั้นตำแหน่งเทียบเท่ารองประธานศาลฎีกา) ตามประวัติไม่เคยมีบุคคลในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องทางการเมือง ในอดีตเคยถูกตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องก้าวก่ายการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่ง ก.ต.ลงมติว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้งดเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือน ตั้งเเต่1 ตุลาคม 56

4. นายทวีป ตันสวัสดิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เกิดวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2495 ปัจจุบันอายุ 66 ปี จบปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2518 เนติบัณฑิตไทย พ.ศ. 2519 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 4 (อีสาน), ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ตามประวัติไม่เคยมีบุคคลในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบวินัยในตำแหน่งผู้พิพากษามาก่อน

5. นายประพาฬ อนมาน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ เกิดวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2494 อายุ 67 ปี จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2516 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6, อธิบดีผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงเทพใต้, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา ตามประวัติไม่เคยมีบุคคลในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบวินัยในตำแหน่งผู้พิพากษามาก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น