MGR Online - อัยการเจ้าของสำนวนสั่งไม่ฟ้อง 24 ผู้ชุมนุมสกายวอล์กแยกปทุมวันเรียกร้องการเลือกตั้ง เหตุฟ้องไปก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แม้จะฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ตามที่กล่าวหา รออธิบดีและอัยการสูงสุดชี้ขาด
วันนี้ (10 มี.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่อัยการศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง 24 ผู้ต้องหาที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่จัดกิจกรรมรวมพลประชาชนคนอยากเลือกตั้ง บริเวณสกายวอล์กแยกปทุมวัน ใกล้ห้างสรรพสินค้า MBK เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 61 ที่ผ่านมา ซึ่งถูก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ แจ้งความข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ว่าได้ตรวจสอบข้อมูลทราบว่าอัยการเจ้าของสำนวนดังกล่าวคือ นายเกริกเกียรติ รัฐนวธรรม ได้พิจารณาสำนวนที่มีการตั้งข้อหาผู้ต้องหา 33 คน ซึ่งมีการเเยกคดีเเกนนำ 9 คนไปฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เเล้ว ส่วนคดีที่ฟ้องต่อศาลเเขวงปทุมวันมีผู้ต้องหาทั้งหมด 24 คน ซึ่งถูกเเจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ12 เรื่องชุมนุมเกิน 5 คนในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ซึ่งทางอัยการเจ้าของสำนวนพิจารณาสำนวนเเล้ว เห็นว่าคดีมีมูลการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เเต่ก็ยังเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวหากฟ้องไปนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็เลยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งคดีดังกล่าวได้มีความเห็นไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 วรรคสอง ประกอบกับระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พ.ศ. 2554 เเต่อย่างไรก็ตาม การสั่งคดีดังกล่าวยังมีขั้นตอนปฏิบัติที่จะต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นดังกล่าวเสนอสำนวนผ่านอธิบดีอัยการคดีศาลเเขวง เเละอัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคนสุดท้ายตามขั้นตอน
เมื่อถามว่าขั้นตอนปฏิบัติดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาไว้หรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า ตรงนี้จะไม่มีเงื่อนเวลา เเต่การดำเนินคดีในศาลเเขวงนั้นจะมีระยะเวลาควบคุมอยู่ โดยอัยการจะต้องมีความเห็นสั่งฟ้องไม่ฟ้องภายใน 30 วัน เพราะคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเเขวงนั้นสามารถผัดฟ้องได้ 5 ครั้ง ครั้งละ 6 วัน ซึ่งจะต้องเเล้วเสร็จตามกฎหมาย
นายประยุทธอธิบายข้อกฎหมายว่า คดีที่พนักงานอัยการเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 วรรคสอง ว่าหากอัยการไม่ว่าสำนักงานใดทั่วประเทศเห็นว่าสำนวนคดีที่อยู่ในการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีได้ ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.อัยการฯ ใหม่ปี 2553 ระบุไว้ชัดเจนว่า ความผิดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนี้จะต้องส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีอีกครั้ง หากอัยการสูงสุดพิจารณาเเล้วมีความเห็นสั่งคดีอย่างไรก็ถือเป็นที่สิ้นสุด
ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 เเนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ก็มีอยู่ก่อนเเล้วในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ 2547 เรื่องการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งเนื้อหาจะมีลักษณะคล้ายกัน เพียงเเต่มาเขียนให้ชัดเจนขึ้นในปี 2553
“คดีอาญาทั่วไปถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องก็จะต้องส่ง ผบ.ตร.หรือผู้บัญชาการภาคให้ทำความเห็น หากตำรวจยังเห็นเเย้งถึงส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด เเต่ถ้าเป็นความผิดประเภทคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะกฎหมายเขียนให้อัยการสูงสุดที่มีอำนาจสั่งคดีสูงสุดเป็นคนสั่งคดีเองจึงไม่ต้องส่งให้ใครทำความเห็นเเย้งส่งอีก ยกตัวอย่างคดีขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตซึ่งเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทที่ทำให้คนตายเเต่ถ้าได้ความว่าคนขับรถคือพ่อ เเละคนที่ตายคือครอบครัวทั้งภรรยาเเละลูกทั้งบ้าน คนขับรอดคนเดียวเเค่นี้เขาก็ช้ำใจอยู่เเล้ว เเบบนี้อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้องเพราะฟ้องไปสังคมก็ไม่ได้อะไร” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าว