xs
xsm
sm
md
lg

พลิกประวัติ “บิ๊กปู” ผู้นอบน้อมต่อ “เปรมชัย” เขาคือลูกน้องสายตรง “พัชรวาท” น้องชายพี่ใหญ่ คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ภาพ “ศรีวราห์” รับไหว้อย่างนอบน้อมต่อ “เปรมชัย” ผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร จนมีการแชร์พร้อมติดแฮชแท็กไม่เอา “ศรีวราห์” ว่อนโซเชียลฯ จนเกิดวาทกรรม “ผมไหว้ใคร สำนวนไม่เปลี่ยน” ทั้งนี้ “บิ๊กปู” ถือเป็นศิษย์ก้นกุฏิของ พล.ต.อ.อัยยรัช เวสสะโกศล อดีตรอง ผบ.ตร. และเป็นลูกน้องสายตรง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.น้องชาย “บิ๊กป้อม” นั่นเอง

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ชื่อเล่นว่า “ปู” เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.ย. พ.ศ. 2502 จบชั้นมัธยมศึกษาจาก ร.ร.เซนต์จอห์น - ร.ร.เตรียมทหารรุ่น 19 - ร.ร.นายร้อยตำรวจ นรต.รุ่น 35 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ไตรรัตน์ อมาตยกุล พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง ผบช.ภ.2 พล.ต.ท.พูนทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบช.ภ.5

ประวัติการรับราชการ

2 ต.ค. 2535 สารวัตรแผนก 2 กก.5 กองบังคับการปราบปราม
16 ก.พ. 2537 รอง ผกก.2 กองบังคับการปราบปราม
1 ก.พ. 2538 รอง ผกก.สืบสวนสอบสวน บช.ภ.7
16 ต.ค. 2538 รอง ผกก.4 กองบังคับการปราบปราม
25 ต.ค. 2539 ผกก.สืบสวนสอบสวน บช.ภ.3
10 ก.พ. 2541 ผกก.อำนวยการ บก.ภ.จว.นครราชสีมา
10 พ.ย. 2543 รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ
16 พ.ย. 2544 รอง ผบก.ป.
16 ธ.ค. 2545 รอง ผบก.ตำรวจป่าไม้
1 ต.ค. 2548 ผบก.ประจำ สำนักงาน ผบ.ตร.
1 ต.ค. 2549 ผบก.ตำรวจสื่อสาร
31 พ.ค. 2551 ผบก.ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1 ต.ค. 2551 ผบก.สายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191
16 ก.พ. 2552 รอง ผบช.ก.
1 ต.ค. 2553 ผบช.ภ.1 (ก.ตร.มีมติแต่งตั้ง ก่อนจะมีการถอนมติดังกล่าวเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อมาศาลปกครองพิพากษาให้เยียวยา ก.ตร.จึงแต่งตั้งโดยให้มีผลย้อนหลัง)
29 มิ.ย. 2555 ผบช.ประจำ สำนักงาน ผบ.ตร.
1 ต.ค. 2557 ผบช.น.
1 ต.ค. 2558 รอง ผบ.ตร.

ตำแหน่งหน้าที่อื่น

5 ต.ค. 2558 สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
11 พ.ย. 2558 กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

สำหรับการรับราชการ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ขึ้นเป็นสารวัตรกองกำกับการ 5 กองปราบปราม (สว.กก.5 บก.ป.) สมัยกองปราบสามยอด จากนั้นก็ไต่เต้าจนถึงรองผู้กำกับการกองปราบปราม (รอง ผกก.บก.ป.) ก่อนย้ายออกนอกหน่วยและกลับมาอีกครั้งในตำแหน่งรองผู้บังคับการกองปราบปราม (รอง ผบก.ป.) และขึ้นผู้บังคับการตำรวจสื่อสาร (ผบก.สส.) ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.) ก่อนโยกไปเป็นผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.ตปพ.) หรือ 191 คุมกำลังสำคัญของนครบาล

ย้อนไปดูเส้นทางสายสีกากีของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ที่เจริญก้าวหน้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่นนั้นเนื่องจากเป็นศิษย์ก้นกุฏิของ พล.ต.อ.อัยยรัช เวสสะโกศล อดีตรอง ผบ.ตร.และเป็นลูกน้องสายตรง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.น้องชาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักงาน หรือแม่บ้านให้ พล.ต.อ.อัยยรัช แถมยังมี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร.เป็นมือไม้ในสำนักงาน พล.ต.อ.อัยยรัช อีกด้วย หลังได้ร่วมงานกันทำให้ทั้งสามคนสนิทสนมรู้ใจกันอย่างดี

ส่วนคอนเนกชันกับฝ่ายการเมืองนั้น เขามีนายสุชาติ ตันเจริญ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ เป็นพี่เขย มาถึงตรงนี้พอจะมองภาพรวมในความสัมพันธ์ของพวกเขาได้ และด้วยความที่มีคอนเนกชันเยอะ ไม่ว่าสมัยไหนใครมีอำนาจ เขาได้รับโอกาสได้นั่งเก้าอี้ทำเลทองตลอดมา ยกเว้นมาสะดุดเอาบ้างก็ตอน “บิ๊กตู่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส นั่งเป็นเจ้ากรมปทุมวันเท่านั้น

โดยเฉพาะเมื่อ พล.ต.อ.ศรีวราห์จะผงาดติดยศ พล.ต.ท. หลังที่ประชุม ก.ตร.เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2553 มีมติเลื่อน พล.ต.ต.ศรีวราห์ (ยศในขณะนั้น) ที่มีคุณสมบัติ “คาบเส้น” เพราะได้สิทธิการนับอายุราชการทวีคูณจากการช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ขึ้นเป็น ผบช.ภ.1 แต่ระหว่างรอขั้นตอนเสนอโปรดเกล้าฯ ทว่ากลับถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ร้องเรียนต่อนายกฯ กล่าวหาว่าการได้มาซึ่งสิทธิการนับอายุราชการทวีคูณนั้น “ฉ้อฉล” อ้างว่าไม่ได้ลงไปปฏิบัติราชการจริง แต่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ใช้ช่วงเวลาเดียวกันไปเรียนจนจบหลักสูตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่น 22 ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จน ก.ตร.ในครั้งถัดมามีมติระงับตำแหน่งนี้เอาไว้ และตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา (สบ 10) ในขณะนั้น รรท.ผบช.ภ.1 แทน จนเจ้าตัวต้องฟ้องต่อศาลปกครอง

กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2558 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ ก.ตร.เพิกถอนมติที่ไม่อนุมัติการได้รับสิทธิการนับอายุราชการแบบทวีคูณในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น และให้เยียวยาโดยแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.1 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 จากนั้นให้เลื่อนขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. และวันที่ 1 ต.ค. 2558 ก.ตร.ก็มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.

ส่วนเรื่องการทำงานนั้น ในสมัยที่เป็นสารวัตรกองปราบปราม พล.ต.ต.ศรีวราห์ได้สร้างความเกรียวกราว เมื่อจับกุมญาติผู้ใหญ่ในคดีค้าไม้เถื่อน แต่บางกระแสบอกว่าการจับกุมครั้งนั้นเป็นการเล่นปาหี่ดีๆ นี่เอง

นอกจากนี้ เขายังนำกำลังจับกุมลูกน้องนักการเมืองใหญ่ของภาคใต้ คดีบุกรุกป่าท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม เขามักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผู้หลักผู้ใหญ่คิดถึงเมื่อต้องการใช้งาน เช่น กรณีนำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย พร้อมหมายค้นจากศาลจังหวัดทองผาภูมิ เลขที่ มค.25/2552 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 และหมายค้นศาลจังหวัดทองผาภูมิ ที่ มค.26/2552 ลงวันที่ 27 ส.ค. 2552 เข้าตรวจค้นพื้นที่ภูไพรธารน้ำรีสอร์ท เลขที่ 242/5-7 หมู่ที่ 1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถึงสองครั้งสองครา

โดยคำสั่งมาจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้น และ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบช.ก.ขณะนั้น ที่ทั้งสองถือเป็นนายเก่าที่สนิทชิดเชื้อกันสมัยทำงานอยู่สำนักงาน พล.ต.อ.อัยยรัช และวงการตำรวจทราบดีว่า “วีรบุรุษนาแก” ถูกตามล้างแค้น หลังได้ร้องเรียนการตั้งกรรมการสอบ พล.ต.อ.พัชรวาท เรื่องงบประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 18 ล้านบาท

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ระบายความเจ็บปวดครั้งนั้นว่า “ขนาดผมเคยเป็นผู้บังคับบัญชาพวกเขา เพิ่งเกษียณออกมาไม่นานยังโดนกลั่นแกล้งขนาดนี้ แล้วประชาชนคนธรรมดาล่ะ!”

และขณะที่เป็น ผบก.ตำรวจปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 นั้น กองกำลังของเขาถือเป็นกำลังหลักในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ก็มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม นอกจากนั้น ยังมีมติให้ชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรงในฐานความผิดเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ในฐานะผู้บัญชาตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

ต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมหน้าสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง โดยแจ้งข้อหาก่อการร้าย ถือว่าเป็นข้อหาที่หนักหนาสาหัสมาก และเป็นเรื่องที่น่าเคลือบแคลงสงสัย น่าเชื่อว่ามีใบสั่งจากนักการเมืองแน่นอน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ยังเป็นหัวหน้าชุดจับกุม ตรวจค้น สถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดงทั่วประเทศตามคำสั่งของคนคนเดียวกันกับที่สั่งเล่นงานกลุ่มพันธมิตรฯ โดยตามจับกุมดีเจและยึดอุปกรณ์ได้จำนวนมาก

พล.ต.อ.ศรีวราห์ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากรัฐบาล คสช.โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ที่ถือว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์เป็นน้องเลิฟ ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่มีกระแสข่าวลือข่าวปล่อยเกี่ยวกับเก้าอี้ ผบ.ตร. พล.ต.อ.ศรีวราห์มักถูกจับตาว่าเป็นตัวสอดแทรกที่มีโอกาสได้รับเลือกให้ขึ้นมานั่งตำแหน่งนี้เสมอ

ปัจจุบัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รับผิดชอบงานด้านมั่นคง มีบทบาทสำคัญในการทำคดีใหญ่ เช่น คดีระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้, คดีเกี่ยวกับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย, การติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา โดยเฉพาะล่าสุดคดีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวก ที่เข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังปรากฏภาพ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ไหว้นายเปรมชัยอย่างนอบน้อม แม้เจ้าตัวจะออกมาชี้แจงในภายหลังว่าเป็นการรับไหว้ตามปกติ จนมีการแชร์พร้อมติดแฮชแท็ก “ไม่เอา ศรีวราห์” ว่อนโซเชียลฯ



กำลังโหลดความคิดเห็น