เปิดวีรกรรม พล.ต.อ.สล้าง มือปราบฉายา “เสือใต้” ในอดีตนั้นนับว่าไม่ธรรมดา หากยังพอจำกันได้กับเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมบันลือโลก “โจ ด่านช้าง” กับพวกรวม 6 ศพ
เหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดราวปลายเดือน พ.ย. 2539 แก๊งชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งประกอบด้วย นายศุภฤกษ์ เรือนใจมั่น หรือ โจ ด่านช้าง หัวหน้าแก๊ง, นายสุบิน เรือนใจมั่น น้องชายของโจ ด่านช้าง, นายประสิทธิ์ โพธิ์หอม, นายยิ้ว ปริวัตรสกุลแก้ว, นายหยัด และนายปราโมทย์ (ไม่ทราบนามสกุล) นำอาวุธสงครามเต็มอัตรา หวังไปถล่มสังหารเหยื่อที่หักหลังกันในธุรกิจค้ายาบ้า เหตุเกิดที่ จ.สุพรรณบุรี ต่อมาไม่นานตำรวจทราบข่าวไปสกัดจับแก๊งคนร้ายรายนี้ โดยทั้งหมดหลบหนีเข้าไปที่บ้านเลขที่ 107/1 หมู่ 5 ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า บ้านยกสูง 2 ชั้น และกำลังถูกน้ำท่วมขังรอบบ้าน
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.สล้าง เป็นผู้นั่งเฮลิคอปเตอร์ของกองบินตำรวจไปบัญชาการเหตุการณ์ด้วยตนเอง พร้อมกับส่งมือปราบ พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ลุยน้ำถือโทรโข่งเข้าเกลี้ยกล่อม และในที่สุดก็ช่วยเหลือตัวประกัน 3 คนในบ้านออกมาได้ หนึ่งในตัวประกันนั้นเป็นอัมพาต ต้องลำเลียงลงเรือออกมาอย่างทุกลักทุเล หลังจากนั้นแก๊งคนร้ายทั้งหมดขอมอบตัว ตำรวจพาทั้งหมดลุยน้ำออกมาจนเกือบจะถึงฝั่งที่ พล.ต.อ.สล้าง บัญชาการอยู่แล้ว แต่จู่ๆ กลับพาคนร้ายทั้ง 6 คนเดินกลับเข้าไปในบ้านหลังเดิมอีก (ภายหลังตำรวจให้สัมภาษณ์ว่าคนร้ายจะยอมบอกและมอบอาวุธปืนสงครามที่ซุกซ่อนอยู่ให้) หลังจากนั้นเสียงปืนก็ระงมไปทั่วคุ้งน้ำ ตำรวจเดินลุยน้ำกลับมาในสภาพที่ปลอดภัยทุกคน แต่คนร้ายทั้ง 6 คนกลายเป็นศพอยู่ในบ้านหลังนั้น!
บก.ข่าวผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ และยืนอยู่เคียงข้าง พล.ต.อ.สล้าง เล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่ตำรวจพาคนร้ายเดินลุยน้ำออกมาจากบ้านหลังนั้น ได้ยินเสียงสบถออกมาว่า “ไอ้... มึงเอาพวกมันออกมาทำไมวะ” จากนั้นได้ยินนายตำรวจอีกผู้หนึ่งวิทยุสั่งการไปยังชุดที่เข้าไปจับกุมคนร้ายว่า “นายบอกให้เอาพวกมันกลับไป ไม่ต้องพาออกมา” ต่อมามีการนำเสนอข่าวกรณีการสั่งการดังกล่าวขึ้น จนพี่ บก.ข่าวผู้นี้ต้องเก็บตัวอยู่ระยะหนึ่งจนเรื่องราวข่าว “โจ ด่านช้าง” ซาลง
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2551 ที่ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ (รอง อ.ตร.) ประกาศจะนำกองกำลังติดอาวุธ (ยังไม่ทราบสัญชาติ) เข้ามาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปักหลักเป็นเวทีในการขับไล่รัฐบาลทรราชอยู่ โดย พล.ต.อ.สล้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดกำลังลำเลียงและเสบียงไม่ให้ส่งไปถึงผู้ชุมนุมภายในทำเนียบฯ เรียกยุทธวิธีดังกล่าวกันง่ายๆ ว่าปิดล้อมให้อดข้าวอดน้ำตายกันไปข้างหนึ่ง
ระหว่างที่รับราชการอยู่นั้น พล.ต.อ.สล้างได้รับฉายาว่า “เสือใต้” จากผู้ใต้บังคับบัญชา จากการเป็นนายตำรวจมือปราบคู่กับ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ที่ได้รับฉายาว่า “สิงห์เหนือ”
บทบาท พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีมากมาย แน่นอนว่าบทบาทของเขาในวันนั้นยังไม่หมดเท่านี้ ก่อนจะหมดวัน “ได้รับคำสั่ง” ให้ไปปฏิบัติการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง และทำให้มีชื่อเสียงที่ไม่อาจลบล้างได้จนทุกวันนี้ พล.ต.อ.สล้างได้เดินทางไปที่ดอนเมือง ตามคำสั่งของสถานีวิทยุยานเกราะ โดยที่ไม่ได้รับคำสั่งจากกรมตำรวจ และ พล.ต.อ.สล้าง ได้เข้าไปด่าว่า ดร.ป๋วย ขณะที่พูดโทรศัพท์อยู่ และตบหู จนโทรศัพท์หลุดจากมือของ ดร.ป๋วย หลายปีภายหลัง พล.ต.อ.สล้างได้พยายามแก้ตัวว่า ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก พล.ต.ต.สงวน คล่องใจ ผู้บังคับการกองปราบปราม ให้รีบเดินทางไปที่สนามบินดอนเมือง เพื่อป้องกันช่วยเหลือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มประชาชน พวกนวพล และกระทิงแดงให้ได้ จึงได้รีบเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง