xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแพ่งยกคำร้องคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ ชี้ไม่เกี่ยวธุรกิจนำเที่ยว พร้อมให้คืนทรัพย์สินที่ยึดกว่า 3,000 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - ศาลแพ่งยกคำร้องคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ พร้อมสั่งให้คืนทรัพย์สินทั้งหมด 3,000 กว่าล้าน ชี้ พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่ากลุ่มผู้คัดค้านประกอบธุรกิจนำเที่ยว เพียงแต่ให้บริการเช่ารถบัสเท่านั้น ไม่เข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (23 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำพิพากษาคดีฟอกเงิน หมายเลขดำ ฟ.223/2559, ฟ.231/2559 ที่พนักงานอัยการยื่นคำร้อง ขอให้ทรัพย์สิน นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 1, นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 2, นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 3, บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ผู้คัดค้านที่ 4, บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คัดค้านที่ 5, บริษัท รอยัลไทย เฮิร์บ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 6, บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 7, บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 8, น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 9, นายโอฬาร โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 10 และ นายชาติชัย โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 11 ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งประกอบด้วย เงินฝากในบัญชีธนาคาร รวม 76 รายการ ราคาประเมินทั้งสิ้น 3,654,697,354.46 บาท, เงินวางประกันซื้อขายทองคำแท่ง เงินฝากในบัญชี และหุ้นกับเงินคงเหลือในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ 7 รายการ ราคาประเมิน 203,031,134.87 บาท พร้อมดอกผล ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เนื่องจาก ปปง. ได้ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของ บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด กับพวก พบว่า มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด ฐานอั้งยี่ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 3 (10) จึงได้มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของ บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และผู้คัดค้านทั้ง 11 คน ไว้ชั่วคราว ระหว่างการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบกิจการนำนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ในราคาต่ำกว่าทุน หรือทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่มีรายได้จากเงินค่าตอบแทนลูกทัวร์ซื้อสินค้า ในราคาที่กำหนดสูงไว้กว่าความเป็นจริง ซึ่งมีกลุ่มของผู้คัดค้านเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นในบริษัทสินค้าและบริษัทที่ให้บริการเช่ารถบัส อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 24, 32 กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด กับกลุ่มผู้คัดค้าน มีพฤติการณ์ตามความผิดมูลฐาน ปปง. จึงมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้
 
ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านว่า ไม่ได้มีพฤติการณ์กระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่ และไม่ได้รู้เห็นเรื่องการสวมบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่น รวมทั้งไม่รู้เห็นเรื่องการจดทะเบียนบริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และบริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด รวมทั้งไม่ได้ประกอบธุรกิจ นำเที่ยวในประเทศไทยในราคาต่ำกว่าทุนกับไม่ได้เข้าไปมีส่วนเห็นบริหารจัดการธุรกิจนำเที่ยว หรือช่วยเหลือให้การสนับสนุนกระทำความผิดดังกล่าว แต่ผู้คัดค้านประกอบธุรกิจให้เช่ารถบัสโดยสาร และจำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวโดยสุจริต ซึ่งก่อตั้ง บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ดำเนินการซึ่งบุคคลทั่วไป รวมทั้งบริษัทนำเที่ยวสามารถขอเช่ารถบัสและแวะซื้อสินค้าในเครือของผู้คัดค้านได้ โดยกลุ่มผู้คัดค้านไม่มีอิทธิพล หรืออำนาจบังคับให้บริษัทนำเที่ยวกำหนดเส้นทางการนำเที่ยวได้ เพียงแต่พนักงานขับรถจะขับรถไปตามเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยวที่กำหนด ซึ่งหากขับรถออกนอกเส้นทางผู้คัดค้านก็จะเรียกค่าเช่ารถในส่วนนอกเส้นทางเพิ่มเติมจากบริษัทนำเที่ยว ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าน้ำมันให้กับบริษัทนำเที่ยวอัตราร้อยละ 20 - 40 และจ่ายให้มัคคุเทศก์อัตราร้อยละ 3 - 5 ของยอดขายสินค้านั้น เป็นการจ่ายทางการค้าและถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่มีมานานทั้งในและต่างประเทศ และผู้คัดค้านก็ไม่เคยนิติสัมพันธ์ หรือ ร่วมกระทำการใดกับผู้บริษัท ฝูอันฯ และบริษัท ซินหยวนฯ และไม่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงหรือใช้เอกสารปลอม ในการจดทะเบียนตั้งบริษัท ขณะที่ธุรกิจของผู้คัดค้านก็ไม่เคยถูกนักท่องเที่ยวหรือหน่วยงานของรัฐร้องเรียน ตักเตือน หรือลงโทษตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวฯ อีกทั้งการประกอบธุรกิจของผู้คัดค้านก็ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ที่จะต้องให้ธุรกิจเช่ารถบัสหรือการขายสินค้าเป็นธุรกิจนำเที่ยวที่ต้องยื่นใบขออนุญาตประกอบการ

ศาลได้ไต่สวนอัยการผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า บริษัท ฝูอันฯ และ บริษัท ซินหยวนฯ จดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวฯ แต่ปัจจุบันนายทะเบียนได้เพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านบางคนถูกฟ้อง เป็นจำเลยในคดีอาญา ร่วมกันฟอกเงิน ในคดีหมายเลขดำ ฟย.46/2559 ซึ่งศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งการกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดในคดีนี้หรือไม่ ตามทางไต่สวนฟังได้ว่า การดำเนินธุรกิจของผู้คัดค้านเป็นการให้เช่ารถบัสเท่านั้น จึงไม่อยู่ภายในบทบังคับของ พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวฯ พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่ากลุ่มผู้คัดค้านเป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวหรือร่วมกับบริษัท ฝูอันฯ และ บริษัท ซินหยวนฯ

สำหรับทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดไว้นั้น จะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานอั้งยี่ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานที่จะต้องให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ ศาลเห็นว่า ผู้ร้องมีพยานเพียง 3 ปากเบิกความเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของ บริษัท ฝูอันฯ และบริษัท ซินหยวนฯ กับกลุ่มผู้คัดค้าน แต่พยานเหล่านั้นก็ไม่ได้ลงไปตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของผู้พิพากษาด้วยตนเอง อีกทั้งไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว หรือเจ้าหน้าที่กรมการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แม้ผู้ร้องจะมีเอกสารอ้างว่ามีการร้องเรียนผ่านสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แต่เอกสารดังกล่าวก็เป็นเพียงการสรุปจำนวนและประเภทข้อพิพาทของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งไม่เกี่ยวกับกลุ่มของผู้คัดค้านแต่อย่างใด นอกจากนี้พยานทั้งสามปากก็เพียงแต่พบธุรกรรมทางการโอนและจ่ายเงินระหว่างผู้คัดค้านเท่านั้น ส่วนเอกสารต่างๆ ที่ตำรวจยึดได้จากการตรวจค้นบริษัท ฝูอันฯ และ บริษัท ซินหยวนฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารใดเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจามกฎหมาย

ขณะที่พยานผู้ร้องปากอื่นทั้งกลุ่มข้าราชการ, กลุ่มประกอบธุรกิจนำเที่ยว, กลุ่มมัคคุเทศก์ และ พยานของผู้คัดค้านก็ต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่าบริษัท ฝูอันฯ และ บริษัท ซินหยวนฯ เป็นเพียงคู่ค้าทางธุรกิจกันเท่านั้นไม่ได้ร่วมประกอบธุรกิจนำเที่ยวด้วยกันกับผู้คัดค้าน จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งหมดร่วมกับบริษัททั้งสองดังกล่าวประกอบธุรกิจนำเที่ยวผิดกฎหมาย
 
อีกครั้งพยานที่ผู้ร้องนำสืบมา ก็ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าหากนักท่องเที่ยวไม่ซื้อสินค้าแล้วจะถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าร้านค้าในเครือของผู้คัดค้านรับเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน หรือมีการกลั่นแกล้งนักท่องเที่ยวที่ไม่ซื้อสินค้าภายในร้าน และฟังไม่ได้ว่ามีมัคคุเทศก์ชาวต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์แล้วเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้คัดค้าน พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านร่วมกัน หรือกระทำการบังคับขู่เข็ญกำหนดเส้นทางนำเที่ยว และให้พานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าในร้านค้าที่กำหนดรวมทั้งไม่ได้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ฝ่าฝืนต่อระเบียบและกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของอัยการ และให้คืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่เจ้าของ พร้อมทั้งยกเลิกวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาที่เคยสั่งไว้ทั้งหมดด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษาดังกล่าวยังเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งอัยการผู้ร้องยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้อีกภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา คือ วันที่ 21 ก.พ. 2561

ทั้งนี้ สำหรับคดีอาญาที่ศาลอาญา เคยพิพากษายกฟ้องไว้เมื่อ ปี 2560 นั้นอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คดีแล้ว เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 ซึ่งขณะนี้คดีอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น