xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุกกลุ่มนักรบศรีวิชัยบุกเอ็นบีทีคนละ 6-9 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คดีแนวร่วมพันธมิตรฯ 85 คน บุกเอ็นบีทีปี 2551 ให้จำคุก “ธเนศร์ คำชุม” ฐานบุกรุกในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและข่มขู่จะใช้กำลังประทุษร้าย เป็นเวลา 8 เดือน ส่วนจำเลยอื่นๆ จำคุกคนละ 6 ถึง 9 เดือน จำเลยที่เป็นเยาวชนรอลงอาญา

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (21 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 4 คดีบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2551 คดีหมายเลขดำที่ อ.4486/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 85 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2535

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 22 - 26 ส.ค. 2551 จำเลย 85 คน ร่วมกันประชุมวางแผนนัดแนะระดมพลจากสะพานมัฆวานรังสรรค์และสถานที่อื่น ตกลงกันไปเพื่อกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จำเลยทั้งหมดพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน มีดดาบ มีดพก ร่วมกันไปทำลายทรัพย์สินและบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันทำลายทรัพย์สินกว่า 15 รายการ รวมความเสียหายกว่า 6 แสนบาท โดยเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดการกระทำจำเลยทั้งหมดก็ไม่หยุด อีกทั้งจำเลยยังร่วมข่มขืนใจ น.ส.ตวงพร อัศววิไล และ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และพนักงานคนอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้จัดรายการออกอากาศ และขับไล่ให้ออกจากที่สำนักงาน โดยจำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ซึ่งระหว่างพิจารณาคดีปรากฏว่า นายมานิต อรรถรัฐ จำเลยที่ 42 หลบหนีคดี ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวมา ปัจจุบันคงเหลือจำเลยที่ต้องมาฟังคำพิพากษารวม 84 ราย

โดยวันนี้จำเลยที่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาคนละ 200,000 บาท นั้น ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาทั้งสิ้น 79 คน โดยที่ไม่ได้เดินทางมา 5 คน ประกอบด้วยนายจีรวัฒน์ คงหนู จำเลยที่ 31, นายประเสริฐ ด้วงทิพย์ จำเลยที่ 37, นายวีระศักดิ์ บรรจงช่วย จำเลยที่ 59, นายวันชัย รักษายศ จำเลยที่ 78 และนายวิธวัช สืบกระพันธ์ จำเลยที่ 84 โดยจำเลยที่ 31 ยื่นขอเลื่อนฟังคำพิพากษา เนื่องจากอ้างว่าป่วยท้องเสียต้องให้น้ำเกลืออยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.พัทลุง โดยมีใบรับรองแพทย์และตารางการจองตั๋วเครื่องบินมาแสดง แต่ศาลเห็นว่าอาการป่วยของจำเลยไม่ถึงขั้นไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงเห็นว่าเป็นการประวิงเวลา ไม่อนุญาตให้เลื่อน ส่วนจำเลยที่ 37 ก่อนหน้านี้ได้แจ้งอาการป่วยเส้นเลือดในสมอง ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้นั้น ศาลได้เคยออกหมายจับให้มาฟังคำพิพากษาไว้แล้ว เนื่องจากยังไม่เชื่อว่าจำเลยมีอาการป่วยถึงขั้นที่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ โดยศาลเห็นว่าจำเลยทั้งห้ามีพฤติการณ์หลบเลี่ยงที่จะไม่มาศาล ศาลจึงให้อ่านคำพิพากษาของจำเลยทั้งหมดในวันนี้ทันที 

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าก่อนเกิดเหตุนั้น กลุ่ม พธม.ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยแกนนำปราศรัยว่าจะไปปิดล้อมสถานที่ราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าจะมีการยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีในวันที่ 26 ส.ค. 2551 จึงนำกำลังไปดูแลรักษาความปลอดภัย ต่อมาในเวลา 04.30 น. พวกจำเลยใส่ชุดดำไปรวมตัวกันและบุกรุกเข้าไปภายในอาคารสถานีเวลา 05.00 น. พร้อมพกพาอาวุธไม้แหลม กระจายกำลังไปตามชั้นต่างๆ ตำรวจจึงเข้าจับกุมได้พร้อมอาวุธ และต่อมาเวลา 8.00 น. ก็มีผู้ชุมนุม พธม.กว่า 1 หมื่นคน บุกรุกเข้าไปบริเวณสถานี แล้วออกจากสถานีในเวลา 18.00 น.

อัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาซ่องโจร เนื่องจากจำเลยมีการรวมตัวกันเปิดเผย แบ่งหน้าที่กันทำ มีการแต่งกายชุดดำและถืออาวุธ เป็นการรวมตัวกันโดยสมัครใจบุกเข้าไปในสถานี พร้อมกระจายกำลังไปค้นหาเจ้าหน้าที่ของสถานีให้ยุติการปฏิบัติงาน เป็นการวางแผนเตรียมไว้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่พยานก็ไม่ทราบว่าจำเลยได้ประชุมปรึกษาหารือวางแผนร่วมกันที่ไหนอย่างไร อาจเป็นการทำตามคำสั่งแกนนำ จำเลยทั้ง 85 รายบุกรุกโดยไม่มีผู้นำ แม้จะมีการแสดงออกเปิดเผยแต่งกายลักษณะเดียวกัน อาจเกิดจากการแนะนำกันโดยไม่ได้ร่วมปรึกษาหารือ เป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง ทำโดยสถานการณ์บีบบังคับ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอว่าจำเลยกระทำผิดฐานซ่องโจร ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยที่ 1-29, 31-41, 43-46, 48-80 และ 82 ยื่นฎีกาผลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา การริบอาวุธ การขอให้รอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบา โดยระบุว่าไม่มีเจตนาก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ข่มขืนใจประทุษร้าย หลังจากเข้าไปในสถานีแล้วเจ้าหน้าที่ของสถานียังสามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนจำเลยที่ 1 ระบุว่าพกปืนติดตัวไปเฉยๆ ไม่ได้ใช้ในการก่อเหตุ ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 บัญญัติไว้ ศาลฎีกาจึงไม่รับคำฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืน  

ให้จำคุกนายธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 เดือน, นายเมธี อู่ทอง จำเลยที่ 24 จำคุก 8 เดือน, นายนัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าการ์ดเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) จำเลยที่ 14 กับจำเลยที่ 2-13, 15-23, 25-29, 31-41, 43– 46, 48 - 80, 82 รวม 76 ราย จำคุกคนละ 6 เดือน แต่ศาลยังให้รวมโทษปรับนายชนินทร์ อินทร์พรหม จำเลยที่ 2, นายจรัส วีระพันธ์ จำเลยที่ 39 กับนายธนพล แก้วเชิด จำเลยที่ 80 ในความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกคนละ 500 บาท ส่วนนายอัมรินทร์ ยี่เฮง จำเลยที่ 48 ยังให้บวกโทษคดีนี้กับคดีอื่นอีก 3 เดือน จึงจำคุกรวม 9 เดือน และนายประดิษฐ์ คงช่วย จำเลยที่ 70 ก็เช่นกัน ให้บวกโทษกับคดีอื่นอีก 2 เดือน จึงจำคุกรวม 8 เดือน

สำหรับกลุ่มที่เป็นเยาวชนขณะกระทำความผิด ประกอบด้วยจำเลยที่ 30, 47, 81 นั้น ซึ่งระหว่างกระทำผิดอายุยังไม่เกิน 20 ปี ให้จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 83-85 ระหว่างกระทำผิดยังเป็นเยาวชน ให้จำคุกคนละ 3 เดือน ศาลจึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกทั้งหกรายจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง สำหรับจำเลยห้ารายที่ไม่มาศาลนั้น ประกอบด้วยจำเลยที่ 31, 37, 59, 78, 84 ศาลให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนของตน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจำเลยทั้ง 79 คน ได้ฟังคำพิพากษาแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้ควบคุมตัวจำเลยซึ่งเป็นชาย 69 ราย ขึ้นรถเรือนจำเพื่อไปคุมขังรับโทษตามคำพิพากษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที ส่วนจำเลยที่เป็นหญิง 4 ราย เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่ถูกควบคุมตัว ทางกลุ่มญาติของจำเลยเกือบ 20 ราย ต่างมายืนรอให้กำลังใจระหว่างถูกส่งตัวขึ้นรถเรือนจำ โดยกลุ่มญาติบางรายตะโกนบอกว่าจะไปเยี่ยมในวันรุ่งขึ้น ส่วนจำเลยบางรายยังยิ้มให้และโบกมือทักทายกับกลุ่มญาติ ทั้งนี้ จำเลยที่เป็นเยาวชนอีก 6 ราย ซึ่งศาลให้รอลงอาญาไว้ก็ได้เดินทางกลับพร้อมญาติ

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2553 ให้จำคุกนายธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 18 เดือน, นายชนินทร์ อินทร์พรหม จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 6 เดือนและปรับ 500 บาท ส่วนจำเลยที่ 3-29, 31-38, 40-41, 43-46, 48-79, 82 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน , นายเมธี อู่ทอง จำเลยที่ 24 จำคุก 1 ปี 12 เดือน และนายจรัส วีระพันธ์ จำเลยที่ 39 กับนายธนพล แก้วเชิด จำเลยที่ 80 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือนและปรับ 500 บาท จำเลยที่ 30, 47, 81 จำคุกคนละ 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 83-85 จำคุกคนละ 9 เดือน ซึ่งระหว่างกระทำผิดจำเลยที่ 30, 47, 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี และจำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชน และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษ จำเลย 30, 47, 81, 83, 84, 85 มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี แต่เมื่อโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2557 ให้ลดโทษจำเลย 84 ราย โดยจำคุกคนละ 3-9 เดือน และส่วนที่เป็นเยาวชนให้รอการลงโทษไว้ดังกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น