xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแจง กม.ใหม่ เพื่อจำกัดสิทธิจำเลยหนีคดี ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ฎีกาได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - โฆษกศาลแจงประเด็นสำคัญ แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญามาตรา 198 และ 216 กรณีจำเลยหนีคดีไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เพื่อกำจัดสิทธิจำเลยต้องแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ศาลด้วย

วันที่ (13 ธ.ค.) นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าตามที่มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2559 โดยมีการเพิ่มเติม วรรคสาม และวรรคสี่ของมาตรา 198 และให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 216 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา โดยใช้ข้อความใหม่แทนซึ่งมีเนื้อหาสรุปว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ต้องรับโทษจำคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น และไม่ได้ถูกคุมขัง สามารถที่จะให้ทนายความใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแทนได้นั้น แต่จากบทบัญญัติที่เพิ่มใหม่นี้ส่งผลให้จำเลยจะต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา มิฉะนั้นศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วแต่กรณี

โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวอีกว่า จากบทบัญญัติดังกล่าวจะทำให้ศาลสามารถตรวจสอบได้ว่าหลังจากที่อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วจำเลยยังมีตัวตนอยู่ในขณะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา และยังเป็นการจำกัดสิทธิจำเลยที่อยู่ระหว่างการหลบหนีไม่ให้สามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาได้ โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 12 ธันวาคม 59 นี้เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 198 เดิมกำหนดในวรรคหนึ่ง และวรรคสองว่า การยื่นอุทธรณ์นั้นให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง และให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน แต่ส่วนที่มีการเพิ่มเติมในกฎหมายดังกล่าวให้เป็นวรรคสาม และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ตามคำพิพากษาจำเลยต้องรับโทษจำคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจำเลยไม่ได้ถูกคุมขัง จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาอาจออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงตนของจำเลยก็ได้ ข้อบังคับนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับได้ ความในวรรคสามมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่จำเลยได้รับการรอการลงโทษจำคุก หรือรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว”

กำลังโหลดความคิดเห็น