xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาลฎีกาออกข้อแนะนำให้รอการกำหนดโทษคดีความผิดไม่ร้ายแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม
“ประธานศาลฎีกา” ออกข้อแนะนำผู้พิพากษาใช้วิธีการรอการกำหนดโทษคุมประพฤติจำเลยคดีความผิดไม่ร้ายแรง-กระทำผิดครั้งแรก เพื่อให้โอกาสกลับตัวกลับใจโดยไม่มีมลทินติดตัว

วันนี้ (8 ธ.ค.) นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ได้แถลงกรณี พ.ร.บแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2559 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรอการกำหนดโทษ การรอการลงโทษ และการกำหนดเงื่อนไข เพื่อคุมความประพฤติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษจำคุกจำเลยที่กระทำผิดไม่ร้ายแรง โดยไม่จำเป็นนำวิธีการแก้ไขฟื้นฟูจำเลยมาใช้เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดซ้ำและกำหนดวิธีการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเหมาะสม และยังเป็นการกำหนดมาตรการทางเลือกอื่นนอกจากการลงโทษจำคุกและปรับ

ดังนั้น นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา จึงออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับวิธีการรอการกำหนดโทษ การรอการลงโทษและการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 เพื่อให้ผู้พิพากษาใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจได้อย่างเหมาะสมแก่คดีต่างๆ โดยข้อเท็จจริงที่ศาลจะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจนั้น อาจได้จากการสอบถามจำเลย จากสำนวนสอบสวน หรือรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติ

ทั้งนี้ การที่ศาลจะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษนั้น ให้มุ่งเน้นในกรณีที่เป็นการกระทำผิดครั้งแรกและจำเลยยังไม่สมควรถูกพิจารณากำหนดโทษให้เป็นมลทินติดตัว หรือหากจำเลยกระทำความผิดซ้ำ แต่ยังมีเหตุที่สามารถแก้ไขปรับปรุงและกลับตัวได้ซึ่งศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ โดยเน้นการใช้มาตรการเพื่อแก้ไขฟื้นฟูและป้องกันไม่ให้จำเลยกระทำความผิดซ้ำโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การรู้สำนึกถึงการกระทำความผิดและการชดใช้เยียวยาให้แก่ผู้เสียหายและการแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดแก่สังคมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรวมที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิด

ส่วนโทษจำคุกควรนำมาใช้เมื่อจำเลยกระทำความผิดอาญาร้ายแรงและน่าจะเป็นอันตรายต่อสังคม และเมื่อต้องจำคุกก็ให้คำนึงถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการจำคุกระยะสั้นโดยใช้การกักขังหรือลงโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 หรือมาตรา 55 ประกอบด้วย ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ระบุไว้ในคำแนะนำฉบับนี้จะส่งผลให้จำเลยที่กระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงได้รับโอกาสแก้ไขความผิดของตนโดยไม่มีมลทินติดตัว สร้างความรู้สำนึกในการกระทำความผิดให้แก่จำเลย รวมถึงเพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น