xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก ยธ.ชี้คดีหมิ่นเบื้องสูง-ความมั่นคงเกิดก่อน 12 ก.ย.ยังต้องขึ้นศาลทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “โฆษกศาลยุติธรรม” ตั้งข้อสังเกตคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้คดีหมิ่นเบื้องสูง-คดีความมั่นคงกลับไปขึ้นศาลยุติธรรม เฉพาะการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นใหม่ หลัง 12 ก.ย.เท่านั้น ส่วนคดีเดิมยังขึ้นศาลทหาร

วันนี้ (13 ก.ย.) นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มีคำสั่งที่ 55/2559 ให้บรรดาการกระทําความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557, ฉบับที่ 38/2557 และฉบับที่ 50/2557 ซึ่งได้กระทําตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับให้อยู่ในอํานาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ว่าได้ตั้งข้อสังเกตคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 55/2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ว่า 1. บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107-112 และความผิดต่อความมั่นคงต่อรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 ความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 38/2557 ได้แก่ คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเอง และความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 50/2557 ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามซึ่งได้กระทำตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ิ 12 ก.ย. 2559 เป็นต้นไปให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารอีกต่อไป เว้นแต่การกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลทหารนั้นก็ยังคงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารต่อไปซึ่งได้แก่กรณีตาม มาตรา 13-15 คือผู้กระทำผิดต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามมาตรา 16 เช่น นายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน และต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารขณะกระทำความผิด

ส่วนข้อ 2 เจ้าพนักงานตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 3/2558 ได้แก่ เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และตามคำสั่งที่ 13/2559 ได้แก่ เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม และผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ยังคงมีอำนาจในการออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว, จับกุมบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า, ช่วยเหลือ สนับสนุนหรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดเพื่อตรวจค้น, ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบ และกระทำการอื่นใดตามที่ คสช.มอบหมายในความผิดตามคำสั่งของหัวหน้า คสช.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวยังคงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานเช่นเดิมทุกประการ และ 3. ในกรณีเห็นสมควร ให้นายกรัฐมนตรีเสนอให้ คสช. แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น