เลขาธิการศาลยุติธรรม แถลงผลงานปี 2560 พิพากษาเสร็จ 1.5 ล้านคดี เตรียมชงร่าง กม. ตั้งตำรวจศาล แจงคดี พธม. ชุมนุมสนามบินมีพยานมาก - จำเลยขอเลื่อนบ่อย ส่วนคดี “ทนายอานนท์” หมิ่นศาล ระบุเป็นอาญาแผ่นดิน ประชาชน หรือ ปอท. กล่าวโทษเอาผิดได้
เมื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ (16 ม.ค.) ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมในภาพรวม ประจำปี พ.ศ. 2560 ระหว่างเดือน ม.ค. - ธ.ค. 2560 โดยศาลชั้นต้นมีคดีที่รับพิจารณา จำนวน 1,748,782 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,502,960 คดี คิดเป็นร้อยละ 85 ขณะที่คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ รับพิจารณาจำนวน 56,634 คดี พิจารณาเสร็จสิ้น 49,617 คดี คิดเป็นร้อยละ 87 ส่วนคดีชั้นศาลฎีกา รับพิจารณาคดี 17,202 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 10,027 คดี คิดเป็นร้อยละ 58 รวมทั้ง 3 ชั้นศาลแล้ว มีคดีที่ศาลรับพิจารณาไว้ทั้งสิ้น 1,822,618 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,561,738 คดี คิดเป็นร้อยละ 82.46
นายสราวุธ กล่าวว่า สำหรับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ย. 2560 พบว่า มีคดีแพ่งที่เข้าสู่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ จำนวน 817,467 คดี เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย 296,405 คดี คิดเป็นร้อยละ 36.26 ของจำนวนคดีแพ่งที่เข้าสู่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล คิดเป็นทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 479,142,349,822.76 บาท มีคดีอาญาเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยจำนวน 9,929 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,018 คดี คิดเป็นร้อยละ 60.61 ส่วนการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ระหว่างเดือน ม.ค. - ธ.ค. 2560 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 148 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 54,149,615,216.72 บาท
นอกจากนี้ เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ศาลยุติธรรมได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี อาทิ บริการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาและคำสั่งระหว่างศาลได้ที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ โดยมีสถิติการใช้งานระบบตั้งแต่เดือน ม.ค. - ธ.ค. 2560 มีการบันทึกคำพิพากษาเข้าสู่ระบบ จำนวน 1,107,749 เรื่อง และมีจำนวนการให้บริการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษา จำนวน 2,308 ครั้ง, โครงการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม และโครงการพัฒนาระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ซึ่งมีการทดลองใช้ใน 12 ศาล และพบว่าสถิติการใช้งานระบบ e-Filing ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2560 - 29 พ.ย. 2560 มีทนายลงทะเบียน Online จำนวน 686 คน ยื่นฟ้องผ่านระบบ จำนวน 257 คดี โดยศาลแพ่งมีการยื่นฟ้องมากที่สุด 140 คดี และมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment เป็นยอดเงินรวม 3,043,988.71 บาท
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ด้านการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพผู้เสียหาย คู่ความ และประชาชน ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในความรับผิดชอบของศาลยุติธรรมมีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น การออกหมายจับ หมายค้น การปล่อยชั่วคราว การแต่งตั้งทนายความและที่ปรึกษาให้แก่จำเลยในคดีอาญา เป็นต้น โดยมีสถิติการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา ระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ย. 2560 มีคำร้องทั้งสิ้น 208,272 เรื่อง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 195,326 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.73 การนำโครงการประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวมาใช้ และการจัดตั้งศาลเพื่อให้คู่ความ ประชาชน และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าถึงการให้บริการทางการศาลด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค และเท่าเทียมกัน ได้แก่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 - ภาค 9 ศาลจังหวัดเชียงคำ ศาลจังหวัดมหาสารคาม สาขาพยัคฆภูมิพิสัย ศาลจังหวัดเชียงราย สาขาเวียงป่าเป้า ศาลจังหวัดพิษณุโลก สาขานครไทย รวมถึงส่วน/กลุ่มงานคดีนักท่องเที่ยวในสำนักงานประจำศาลจังหวัดสุโขทัยด้วย
“นอกจากนี้ ในปี 2561 สำนักงานศาลยุติธรรมยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ด้วยการจัดอบรมในหัวข้อและหลักสูตรที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศอย่างเข้มข้น เพื่อให้การแปลและบังคับใช้กฎหมาย สอดคล้องต่อบริบทของสังคมไทยและหลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับของสากล ตามนโยบายของนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว
นายสราวุธ ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับรางวัลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐคะแนนสูงสุด 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งคะแนนครั้งหลังสุดคือ 95.80 คะแนน ซึ่งทางสำนักงานศาลยุติธรรมตั้งเป้าไว้ 100 คะแนนเต็ม แต่ตรงนี้ก็แสดงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าระบบการทำงานมีคุณธรรมและความโปร่งใส เป็นการประเมินโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเริ่มมีการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ควบคู่การปล่อยชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ได้เมื่อไหร่ นายสราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้กำไล EM ยังไม่มีการใช้ อยู่ระหว่างการส่งมอบและตรวจรับ มีจำนวน 5,150 เครื่อง โดยจะกระจายในศาลนำร่อง 20 กว่าศาล ซึ่งเราได้เปิดศูนย์ควบคุมอยู่ที่ข้างอาคารศาลอาญา จะมีเจ้าหน้าที่ประจำการ 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามตลอดเวลาหากมีการนำมาใช้ ตนคาดว่าประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค. นี้ จะมีความเคลื่อนไหวและเริ่มใช้ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าปล่อยชั่วคราวจำเลยแล้วจะไม่หลบหนี
เมื่อถามถึงความคืบหน้าโครงการตำรวจศาล หรือ Court Marshal นายสราวุธ กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งเราก็ได้ยกร่างกฎหมายและเตรียมการนำเสนอคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.) และถ้า กบศ.เห็นชอบ ก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและนำไปเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป จะเห็นได้ว่าความคิดการตั้ง Court Marshal เนื่องจากเราไม่มีหน่วยงานที่จะรักษาความปลอดภัยและบังคับตามหมายของศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนอื่นก็มีภารกิจที่ยุ่ง ทำให้การบังคับตามหมายศาลยังมีช่องว่างอยู่ ถ้าหากมีการดำเนินการในส่วนนี้จะเป็นการเติมเต็มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนจะได้จัดตั้งขึ้นเมื่อไหร่คงต้องขึ้นอยู่กับสภาให้ความเห็นชอบ ถ้าหากผ่านกฎหมายแล้วเราก็พร้อมที่จะดำเนินการ ส่วนเรื่องงบประมาณในเบื้องต้น เราเห็นว่าคงจะไม่ใช้งบประมาณมาก เพราะไม่ใช่การจัดตั้งหน่วยงานขนาดใหญ่ ถ้าหากมีการตั้งขึ้นมาแล้ว เราเห็นว่ามีประสิทธิภาพก็จะขยาย และผู้ที่มีอำนาจดูแลหน่วยงานนี้โดยตรงคือสำนักงานศาลยุติธรรมที่มีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี สำนักงานศาลยุติธรรมเปรียบเสมือนแม่บ้านในการดูแลความเรียบร้อยทุกอย่าง ทางผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีสามารถประสานมายังสำนักงานศาลได้
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้เคยมีความคิดเรื่องตั้งตำรวจศาลแต่ทำไม่สำเร็จเพราะอะไร นายสราวุธ กล่าวว่า ช่วงนั้นที่มีความคิดมาจากกรณีผู้พิพากษาถูกยิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศาลฯ ขณะนั้น ได้มีดำริว่าเราควรจะต้องมีหน่วยที่ดูแลความปลอดภัยผู้พิพากษา แต่เมื่อการดำเนินการจะต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งติดอยู่ตรงขั้นตอนของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
ถามว่ามีการมองว่าฝ่ายบริหารไม่อยากให้ศาลมีกองกำลังเป็นของตัวเอง นายสราวุธ กล่าวว่า เราคงจะไม่เรียกตรงนี้ว่าเป็นกองกำลัง เพียงแต่อยากให้ทุกหน่วยได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ศาลไม่เคยมีแนวความคิดเรื่องตั้งกองกำลัง ซึ่งเราได้ร่างกฎหมายตำรวจศาลเสร็จแล้ว มีประมาณ 10 กว่ามาตรา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจความเรียบร้อยเพื่อเสนอ กบศ.
ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมที่สนามบิน ถูกมองว่ามีความล่าช้าเพราะเหตุใด นายสราวุธ กล่าวว่า คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลอาญา แต่เนื่องจากคดีมีพยานเป็นจำนวนมาก และฝ่ายจำเลยก็ขอเลื่อนการสืบพยานบ่อย ซึ่งคดีลักษณะนี้ถือเป็นคดียกเว้นที่ต่างจากคดีทั่วไปที่ใช้เวลาสืบพยานไม่เกิน 1 ปี ถ้ายกตัวอย่างเทียบเคียงก็เป็นลักษณะคล้ายคดีฉ้อโกงประชาชนที่มีการกระทำผิดหลายร้อยหลายพันครั้ง ผู้เสียหายกว่า 2,000 คน เวลาสืบพยานทั้ง 2,000 คน ศาลก็ไม่กล้าตัดพยาน ตัวโจทก์ต้องการนำสืบพยานทั้งหมด ต้องคิดดูว่าการเอาคนเป็นพันคนมาสืบพยานในศาลจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ นี่คือลักษณะของบางคดีที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นในต่างประเทศจะมีการตัดพยานบางส่วน เพราะมองว่าโทษที่ได้รับยังไงก็ลงโทษได้ไม่เกิน 20 ปี ในบ้านเรายังมีปัญหาว่าหากไม่ทำตามกฎหมายจะโดนครหาว่าทำเพื่อช่วยเหลือใครหรือไม่ ถือว่าเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต่อไปคาดว่าจะต้องมีการแก้ไข ในการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามถึงกรณีนายอานนท์ นำภา ทนายความ ตำรวจ ปอท.แจ้งข้อหาดูหมิ่นศาลและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาพิพากษาคดีของ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ในส่วนนี้ใครเป็นผู้เสียหาย หน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจแจ้งความหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ศาลจะต้องเป็นผู้เสียหาย แต่ในความผิดอาญาแผ่นดินจะมีได้ 2 กรณี คือการร้องทุกข์ ซึ่งก็คือผู้เสียหาย และการกล่าวโทษ ซึ่งการกล่าวโทษอาจจะเป็นผู้ประสบพบเหตุการณ์ แม้จะไม่ใช่ผู้เสียหายแต่ก็สามารถกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนได้ ฉะนั้นในระบบคดีอาญา การกล่าวโทษกับการร้องทุกข์จะเป็นลักษณะนี้
นายสราวุธ กล่าวต่อว่า แต่ในระบบศาลนั้น ศาลย่อมไม่ต้องการเข้ามาเป็นคู่ความในคดี จะเห็นได้ว่าศาลมีความอดทนอดกลั้น บางเรื่องการดำเนินการเรื่องการดูหมิ่นศาล หรือดูหมิ่นผู้พิพากษามีความจำเป็นที่ต้องดำเนินคดี เพราะหากคนที่มีพฤติการณ์แบบนี้กระทำการอยู่เรื่อยๆ จะกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน ถ้าหากไม่ดำเนินการใดๆ เลย คนจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องจริง เช่นการเอาเรื่องไม่จริงไปกล่าวหาผู้พิพากษารับสินบน อย่าว่าแต่ผู้พิพากษาเลย ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็รู้สึกได้รับความเสียหาย เหมือนนักข่าวที่เวลาเขียนข่าวก็โดนหาว่าเขียนข่าวเชียร์รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ใช่ความยุติธรรม สถาบันศาลเป็นสถาบันของประชาชน แนวทางการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นคดีละเมิดอำนาจศาลหรือคดีหมิ่นศาล ศาลพยายามที่จะระมัดระวังมากที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบ และไม่ลงไปเป็นคู่ความในคดี ให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเราไม่มีนโยบายใดๆ ทั้งสิ้นที่จะไปมีปัญหากับประชาชน