เลขาธิการศาลฯ เผยแนวทางปฏิรูปศาลทหาร กรณีการเสียชีวิตน้องเมย นักเรียนเตรียมทหาร หากอยู่ในอำนาจหน่วยงานเดียวอาจเกิดความเคลือบแคลงสงสัย-ตั้งคอร์ท มาร์แชล กระบวนการยุติธรรม ชี้คดีครูจอมทรัพย์เข้าข่าย เบิกความเท็จ
วันนี้ (26 พ.ย.) ที่โรงแรมเดอะ บาซาร์ แบ็งคอก ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานปิดการอบรมหลักสูตรพัฒนาสื่อมวลชนเพื่อการประชาสัมพันธ์ศาลยุติธรรม (สศย.) รุ่น 1 และมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่สื่อมวลชน
นายสราวุธ ในฐานะคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุถึงการเสียชีวิตน้องเมย นักเรียนเตรียมทหาร ว่าขั้นตอนตั้งแต่เมื่อเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนชันสูตรศพ การทำสำนวนคดีอาญาจนถึงมีคำพิพากษานั้นเป็นอำนาจของหน่วยงานทหารทั้งหมดซึ่งอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมเเละเคลือบเเคลงสงสัยว่าการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในระบบศาล ไม่ว่าจะเป็น ศาลยุติธรรม, ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลปกครองเเละศาลทหารนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมก็มีทหารเป็นคณะกรรมการ คือ พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ท่านพูดชัดเจนว่าในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้จะรวมถึงศาลทหารด้วย โดยในศาลทหารนั้นมีอยู่ 2 ประเด็นที่ชัดเจน คือ เรื่องกำหนดระยะเวลาการพิจารณาคดีจะต้องแล้วเสร็จในระยะเวลาเท่าไหร่ซึ่งจะกำหนดเป็นมาตรฐานในทุกศาล ส่วนประเด็นที่ 2 คือ อำนาจของศาลทหารโดยคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ รวมทั้งกรมพระธรรมนูญศาลทหารไปดูว่าในต่างประเทศเรื่องอำนาจศาลทหารควรจะมีขอบเขตอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องอำนาจพิจารณาคดีศาลทหารก็เป็นข้อเรียกร้องจากองค์กรระหว่างประเทศกรณีที่มีการตั้งคำถาม ว่า คดีลักษณะอย่างไรบ้างที่ควรอยู่ในอำนาจศาลทหารเเละคดีที่เกี่ยวพันกับพลเรือนต้องไปศาลทหารมากน้อยเเค่ไหน แน่นอนว่าในหลักปัจจุบันนั้นมีว่าถ้าทหารกระทำความผิดกับพลเรือนจะต้องขึ้นศาลพลเรือน จึงมีเเนวคิดต่อไปว่าในบางกรณีที่เป็นทหารล้วนๆ กระทำความผิดเเต่เป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่น การกระทำความผิดอาชญากรรมที่เป็นคดีอาญาทั่วๆ ไป ที่ไม่เกี่ยวกับวินัยทหารหรือภาวะการสงคราม ควรต้องมาขึ้นศาลพลเรือนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทางคณะกรรมการก็มีการเสนอเป็นประเด็นไว้ด้วยว่า ควรจะมีการทบทวนปรับปรุงเเก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้เเนวทางใด เเต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมกำลังพิจารณาดูอยู่
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในที่ประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมานั้น ทางคณะกรรมการได้มีหยิบยกประเด็นเเละเสนอเรื่องอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหารที่จะกำหนดให้คดีที่ทหารกระทำผิดคดีอาญาทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือวินัยในการทหารนั้นจะต้องขึ้นศาลพลเรือนซึ่งก็คือศาลยุติธรรม
ส่วนการรื้อฟื้นคดีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ครูใน จ.สกลนคร คดีดังกล่าวถือว่าเข้าสู่กระบวนการรื้อฟื้นคดีไปแล้วแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ออกมาไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิมที่เคยตัดสิน เพราะศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่นำมาไต่สวนนั้นไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ โดยคดีนี้ไม่ใช่เรื่องแรกที่ผลออกมาเช่นนี้ โดยคดีต่างๆ ศาลก็ได้พิจารณาทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และหลักความน่าเชื่อถือของพยานและตรรกะความสมเหตุสมผล ขณะที่การทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเราไม่ขอวิจารณ์กล่าวถึงหน่วยงานอื่น ศาลก็ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ที่สุด ส่วนที่คำพิพากษาศาลฎีกาได้ระบุถึงขบวนการจ้างคนรับผิดมาอ้างเป็นพยานหลักฐานใหม่ ในคดีนี้ถือเป็นคดีแรกหรือไม่ นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ในคดีอื่นๆ ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นลักษณะเช่นนี้มาก่อน
เมื่อถามถึงองค์ประกอบความผิดการเบิกความเท็จหรือให้การเท็จว่า การจะเป็นความผิดนั้นเพียงรู้แค่บางส่วน หรือรับรู้ทั้งหมด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความผิดเมื่อเบิกความเท็จข้อสำคัญในคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
เมื่อถามถึงการติดตามตัวจำเลยที่หลบหนี คดีไม่ยอมรับโทษตามคำพิพากษาจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร นายสราวุธกล่าวว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารไม่ใช่หน้าที่ของศาล คดีใดที่ศาลพิพากษาแล้วมีแต่คำพิพากษาที่เป็นเนื้อกระดาษแต่บทบังคับที่แท้จริงไม่มีนั้น เราไม่อยากเป็นเช่นนั้นประเทศไหนๆ ก็เช่นกัน แล้วถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรก็เป็นข้อเสนอส่วนหนึ่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเหมือนกัน คือ คอร์ตมาร์แชล ที่พยายามผลักดันมาตลอด ตอนนี้ก็มีร่างแนวทางไว้แล้ว ซึ่งไม่ได้ตำหนิว่าฝ่ายไหนไม่ได้ทำหน้าที่หรือทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ข้อเสนอในคณะปฏิรูปคือต้องการให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ณวันนี้บทบาทของฝ่ายบริหาร นั้นตำรวจเขาก็มีบทบาททำหน้าที่จับโจรผู้ร้ายที่อยู่เยอะแยะ ดังนั้นบางครั้งศาลออกหมายจับจำเลยที่หลบหนีไปแล้วแต่ไม่มีกระบวนการบังคับติดตามหมายจับ เพราะตำรวจต้องไปติดตามจับกุมคดีที่ใหญ่กว่าเช่น มีเหตุคดีโจรปล้นทรัพย์ร้านทอง คดีข่มขืน คดีฆ่า ตำรวจก็ต้องไปติดตามจับกุมคดีเหล่านั้นก่อน คดีสำคัญเล็กน้อยก็รอไว้ บางครั้งในการทำงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาก็ต้องควักเงินจ่ายเอง เพราะฉะนั้นเราเข้าใจปัญหาเหล่านี้ ทั้งนี้ศาลยุติธรรมได้เริ่มมีการปรับระบบแล้วคือพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องหลักประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว ศาลยังให้รางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้นำจับ แก่ผู้แจ้งเบาะแสจนสามารถติดตามจับกุมได้อันนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีการแก้ไขกฎหมายผ่านไปแล้วและคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ) ได้ออกระเบียบและ ประธานศาลฎีกาลงนามแล้ว อยู่ระหว่สงส่งไปให้กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งตนจะได้ไปประสานกระทรวงการคลังเพื่อจะได้ใช้กฎหมายนี้โดยเร็ว ถ้าเราไม่มีกระบวนการจูงใจเหล่านี้ความสัมฤทธิ์ผลก็น้อยลง
“ในระบบคอร์ตมาร์แชลเราจะตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมา ทำหน้าที่ไปติดตามผู้ที่หลบหนีหมายของศาล ปัจจุบันถ้าเราไปศาลจะเห็นว่ามีตำรวจศาลอยู่ แต่ถ้ามีคอร์ตมาร์แชลก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่คุ้มครองดูแลความปลอดภัยผู้พิพากษาและกรณีจำเลยหลบหนีหมายจับ ซึ่งจะมีประโยชน์ให้การบังคับใช่กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น สุดท้ายเราจะทำได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่งบประมาณที่สนับสนุนจากภาครัฐ รัฐบาล หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง คิดว่าถ้าให้โอกาสเราในการทำ ทำแล้วมีการบังคับใช้กฎหมายที่ดีขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงในสังคม ผมก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม”
นายสราวุธกล่าวอีกว่า ตนไปดูแนวทางคอร์ตมาร์แชลในหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ และประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จมาแล้ว ตามโครงสร้างแล้วที่ผู้กำกับดูแล และควบคุมการปฏิบัติงานของคอร์ตมาร์แชล คือ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการศาลและทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่พิพากษาคดีของศาลทั่วประเทศซึ่งอำนาจการดูแลความปลอดภัยในบริเวณศาลก็มีอยู่แล้ว เพราะระเบียบการรักษาความปลอดภัยในศาล ให้อำนาจเลขาธิการสำนักงานศาลฯ ไว้ แต่บุคลากรที่ดูแลความปลอดภัยในการก็ต้องมีประสิทธิภาพ มีการฝึกให้มีทักษะและความชำนาญเฉพาะ และที่สำคัญต้องได้งบประมาณจากฝ่ายบริหารด้วย