MGR Online - ศาลยุติธรรมจัดสัมมนาสื่อให้ความรู้ด้านกฎหมาย แจงขั้นตอนจำเลยไม่มาศาลและศาลได้ออกหมายจับ รื้อคดีอาญานักการเมืองเก่าไต่สวนลับหลังได้ ส่วนกฎหมายใหม่ หาก “อดีตนักการเมือง” หนีคดีเจอ 2 เด้ง ทั้งโทษคดีหลัก-โทษหนีคดีคุก 6 เดือน
วันนี้ (17 พ.ย. 60) สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดสัมมนาความรู้ทางกฎหมายและระบบการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมแก่สื่อมวลชน (สศย.) รุ่นที่ 1 นายทรงเดช บุญธรรม ผู้ช่วยเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ให้ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นคำร้องขอไต่สวนคดีลับหลังจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีที่จำเลยในคดีหลบหนี ว่าตามขั้นตอนหากอัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นโจทก์ในคดีที่จำเลยไม่มาศาล ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีที่จำเลยหลบหนีมาพิจารณาลับหลังจำเลยตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 (วิ อม.) มาตรา 28 ที่ระบุว่ากรณีที่ศาลประทับรับฟ้องในคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วคดีนั้นจำเลยไม่มาศาลและศาลได้ออกหมายจับจำเลยแล้วแต่ไม่สามารถจับตัวจำเลยมาได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะแต่งตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้แล้วนั้น
เมื่อรับคำร้องแล้ว ศาลจะต้องตรวจดูว่าสำนวนเดิมที่ฟ้องไว้นั้น องค์คณะผู้พิพากทั้ง 9 คนในคดีเดิมนั้นยังดำรงตำแหน่งครบอยู่หรือไม่ หากมีท่านใดพ้นจากองค์คณะก็จะต้องให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เลือกผู้พิพากษามาเป็นองค์คณะทดแทนให้ครบทั้ง 9 คน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคำร้อง โดยการพิจารณาคำร้องดังกล่าวรวมทั้งการประชุมองค์คณะ ตามวิ อม.ใหม่ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนไว้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด
เมื่อถามถึงคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยรับฟ้องและจำหน่ายคดีอดีตนักการเมืองไว้ก่อน เนื่องจากจำเลยหลบหนีระหว่างการพิจารณาที่อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องไว้ว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนนี้เลยหรือไม่ นายทรงเดชระบุว่า สามารถดำเนินการได้ การปฏิบัติต้องเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าว หากมีการยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนลับหลังจำเลยก็สามารถแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการแทนตัวจำเลยได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสัมมนา นายทรงเดชยังได้มีการบรรยายถึง วิ อม.ใหม่ในมาตรา 32 ที่มีการกำหนดโทษจำเลยที่หลบหนีระหว่างการพิจารณาคดีไว้ว่าจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น หากติดตามจำเลยมาได้นอกจากจะต้องรับโทษในคดีหลักตามคำพิพากษาแล้วยังจะต้องรับโทษฐานหลบหนีแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งคดี ซึ่งพนักงานอัยการ หรือ ป.ป.ช. อาจจะตั้งเป็นอีกสำนวนคดีหนึ่งก็ได้
เมื่อถามว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายตาม ม.32 นี้ด้วยหรือไม่ นายทรงเดชได้ระบุสั้นๆ เพียงว่า เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนายังมีการให้ความรู้และเตือนสื่อมวลชนในการนำภาพหมายจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไปเผยแพร่ด้วยว่าอาจจะกระทบต่อตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีนั้นๆ เนื่องจากหมายจับจะเผยแพร่ได้จากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ใช่การนำหมายจับที่ได้มาจากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ผู้ได้รับความเสียหายอาจยื่นฟ้องผู้เผยแพร่กรณีได้รับความเสียหาย และการเผยแพร่อาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลด้วย