MGR Online - โฆษกอัยการแถลง พนักงานอัยการยื่นให้ศาลฎีกานักการเมืองไต่สวนสำนวน “ทักษิณ ชินวัตร” 2 คดี ปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย-แปลงสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต ระบุจำเลยมีสิทธิแต่งตั้งทนายแก้ต่างได้ก่อนศาลมีคำสั่งพิพากษา ยันทำตามกฎหมายใหม่ไม่ได้เจาะจงใคร
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (21 พ.ย.) นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์,นายประยุทธ เพชรคุณและ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวว่า วันนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษและพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้านายทักษิณ ชินวัตร จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 ที่นายทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้องเป็นจำเลยข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาฯ (ออกกฎหมายเเปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม และมือถือ เป็นภาษีสรรพสามิต) และคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 ที่นายทักษิณ ชินวัตร กับพวก 27 คนตกเป็นจำเลย ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ (กล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ กับกลุ่มกฤษดามหานคร)
ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2560 มาตรา 28 โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องรอว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิจารณาเป็นอย่างไร ขณะที่นายทักษิณ จำเลยสามารถแต่งตั้งให้ทนายความแก้ต่างคดีได้ตลอดก่อนศาลจะมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว
นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกอัยการสูงสุด แถลงมติรื้อคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลัง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 (วิ อม.) ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลย (ลับหลัง) มีผลบังคับใช้แล้ว คณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี ที่ดำเนินการโดย คตส.และ ป.ป.ช. ที่มีนายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ ริงอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน จึงได้ตรวจสอบคดีของอดีตนักการเมือง ที่อยู่ในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วพบว่ามีคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ยื่นฟ้งต่อศาลไว้แล้วสองสำนวน คือ คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 ที่กล่าวหาทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีที่ อม.3/2555 ที่กล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งทั้งสองคดีศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนี โดยคณะทำงานได้มีความเห็นเสนอต่อนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดได้เห็นพ้องกับคณะทำงาน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวทั้งสองสำนวนดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณา คดีทั้งสองสำนวนต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้านายทักษิณ จำเลย ตามวิ อม.มาตรา 28, 69, 70 ซึ่งวันนี้รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องแล้ว หลังจากนี้ต้องรอฟังคำสั่งของศาลว่าจะพิจารณาอย่างไร ส่วนการติดตามตัวนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งสองที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดีที่ศาลพิพากษาแล้วนั้นยังไม่มีข้อมูลระบุว่าอยู่ที่ใด
อย่างไรก็ตาม หลังจากอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังต่อไปนั้น นายทักษิณสามารถแต่งตั้งทนายเข้ามาร่วมการพิจารณาในครั้งนี้ได้ ส่วนเรื่องพยานหลักฐานที่จะไต่สวนนั้นเป็นเรื่องในสำนวนคดี พร้อมย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตามวิ อม.ใหม่ ไม่ได้พุ่งเป้าว่าจะดำเนินการเฉพาะเจาะจงกับนายทักษิณ ส่วนประเด็นในเรื่องอายุความทางคดีศาลก็เป็นประเด็นที่ศาลจะพิจารณาต่อไปด้วย
วันเดียวกัน เวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ถนนเเจ้งวัฒนะ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดี อัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองดำเนินการพิจารณาคดี ที่กล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯกับกลุ่มกฤษดามหานคร เเละสำนวนที่กล่าวหาทุจริตการออกกฎหมาย เเปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เเละมือถือ เป็นภาษีสรรพสามิต ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเนื่องจากไม่มีตัวจำเลย
นายชาติพงษ์ กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองได้มีการเเก้ไขบทบัญญัติให้สรมารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลย(ลับหลัง)ได้ เมื่อออกหมายจับ 3 เดือนเเล้วยังไม่ได้ตัวจำเลยมา ตนในฐานะอัยการคดีพิเศษที่ได้รับมอบหมายจากนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด จึงเดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลดังกล่าว โดยคำร้องมีความยาวประมาณ 5-6 หน้า บรรยายถึงเหตุผลในการร้องขอให้มีการพิจารณาคดีจากที่ถูกจำหน่ายไว้ชั่วคราวเนื่องจากมีการเเก้ไขกฎหมายใหม่