xs
xsm
sm
md
lg

“ปริญญา” นำรายชื่อ ปชช.ชง กก.ปฏิรูป เลิกใช้เงินประกัน ให้ประเมินความเสี่ยงแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(แฟ้มภาพ)
“ปริญญา” นำทีมยื่นรายชื่อ ปชช.ในโครงการ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ชง กก.ปฏิรูปยุติธรรมเลิกใช้เงินประกันตัว ด้าน “อำนวย” รับตรงแนวทางปฏิรูป ผลักดันระบบประเมินความเสี่ยง พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็น ปชช. 23 พ.ย.

วันนี้ (22 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายการปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน นำโดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.สรัลรัสย์ เชื้อเมืองพานกุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมายื่นรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ต่อ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยนายปริญญากล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่างมีหลักการเหมือนกันว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดมีความผิดจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนผู้กระทำความผิดมิได้ ดังนั้นจึงไม่ควรมีบุคคลใดต้องติดคุกก่อนศาลพิพากษาหรือระหว่างพิจารณาคดี แต่ในทางปฏิบัติกำหนดให้ใช้เงินเป็นหลักประกันสำหรับขอปล่อยตัวชั่วคราว ผลคือปัจจุบันมีคนติดคุกอยู่ 66,000 คนเพราะไม่มีเงินประกัน

นายปริญญากล่าวอีกว่า เครือข่ายฯ สร้างแคมเปญล่ารายชื่อสนับสนุนโครงการบนเว็บไซต์ change.org มีเป้าหมายอยู่ที่ 66,000 รายชื่อ ขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 30,000 ราย ทั้งนี้ ผลเสียจากการใช้เงินประกันตัวนั้นทำให้เกิดปัญหาอย่างร้ายแรงในกระบวนการยุติธรรมคือ 1.ความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมมีมากขึ้น ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ 2. คุกล้นโดยไม่จำเป็น และ 3. ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจำเลยจะกลับมาศาล มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าเมื่อจำเลยที่ได้ประกันรู้ว่าผิดก็ไม่มาศาล ดังนั้น ขอเสนอให้ใช้หลักการประเมินความเสี่ยงในการหลบหนี ของจำเลยแทนการใช้เงินประกัน แม้ว่าตอนนี้จะมีศาล 13 แห่งใช้ระบบนี้อยู่แต่ก็คิดเป็นเพียงส่วนน้อยหรือจำนวนร้อยละ 5 ของศาลทั้งหมดเท่านั้น

ด้าน พล.ต.ท.อำนวยกล่าวว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อสนับสนุนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพราะตรงกับแนวทางการปฏิรูปของเราที่จะหามาตรการโดยไม่ใช้หลักทรัพย์การขอประกันตัวเป็นตัวตั้ง แต่จะผลักดันระบบประเมินความเสี่ยงมาใช้สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวแทน ซึ่งต้องปรับกระบวนทัศน์กันใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นอย่างที่เห็นคือ ขอประกัน 5 ล้านบาท 20 ล้านบาท แต่เมื่อออกจากห้องขังแล้วก็บินไปไม่กลับมาอีก อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในวันที่ 23 พ.ย. ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์คด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น