MGR Online - ดีเอสไอจับมือ บ.ไปรษณีย์ไทยแ-เอ็มเจไอบี ไต้หวัน ร่วมทลายเครือข่าย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ในลักษณะองค์กรข้ามชาติ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP มีผู้ตกเป็นเหยื่อร่วม 100 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท
วันนี้ (18 ต.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย นายมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ พ.ต.ท.ธวัชชัย ศรีวรกุล ผอ.ส่วนคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ 2 และ พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผอ.กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ร่วมแถลงผลจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ที่มีคนไทยและคนไต้หวันร่วมกระทำความผิด โดยมีผู้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อร่วม 100 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ย. 2559 จนถึงปัจจุบันได้มีประชาชนร้องเรียนต่อศูนย์ข้อมูลบริษัท ไปรษณีย์ไทย ว่ามีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ติดต่อเข้ามาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดีเอสไอ ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณ 8,000 ราย รวมทั้ง มีการปรับเปลี่ยนพฤติการณ์หลอกลวงไปเรื่อยๆ โดยการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์พร้อมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างดีเอสไอ, MJIB (เอ็มเจไอบี) ไต้หวัน (The Ministry of Justice Investigation Bureau), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
“ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่าอย่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้กระทำผิดเพื่อหวังค่าจ้างเพียงเล็กน้อย โดยไปเปิดบัญชีเงินฝาก พร้อมมอบบัตรเอทีเอ็มให้คนอื่นใช้บัญชี เพราะคนร้ายอาจใช้เป็นบัญชีรับโอนเงินจากการกระทำผิด ซึ่งเจ้าของบัญชีจะต้องถูกดำเนินคดีว่ามีส่วนร่วมกระทำผิด และอย่าไปร่วมมือกับชาวต่างชาติไปทำการหลอกลวง แม้จะมีการเดินทางไปต่างประเทศและมีรายได้ แต่ผู้เดือดร้อนที่ตกเป็นเหยื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเงินที่เก็บไว้ใช้ยามบั้นปลายของชีวิต ทั้งนี้ เอ็มเจไอบีมีข้อห่วงใยสำหรับคนไทยที่จะเข้าไปทำงานในไต้หวันโดยผิดกฎหมายว่า การกระทำความผิดในไต้หวันไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย และหากตรวจพบจะต้องถูกดำเนินการทางคดีทุกคน” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าว
ด้านนายมานพเปิดเผยว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย ได้รับผลกระทบจากการถูกแอบอ้างหน่วยงาน โดยจากสถิติตั้งแต่เดือน พ.ย. 59 - ต.ค. 60 มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลกว่า 1 หมื่นราย ซึ่งบริษัท ไปรษณีย์ไทย ไม่ได้นิ่งนอนใจและดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นผู้เสียหาย นอกจากนี้ อย่าหลงเชื่อโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่พูดจาโน้มน้าวให้กระทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง และย้ำเตือนว่าหน่วยงานไม่มีวิธีการให้โอนเงินแต่จะติดต่อไปนัดหมายก่อนเดินทางมารับสิ่งของจึงจะชำระเงิน
ส่วนทาง พ.ต.ท.วิชัยกล่าวว่า จากการตรวจสอบช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่าขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก และมีเครือข่ายดังกล่าวตั้งฐานการดำเนินงานคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงอยู่ต่างประเทศ โดยคนต่างชาติร่วมมือกับคนไทย นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการโทรศัพท์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP (Voice Over Internet Protocol) เพื่อให้เกิดความซับซ้อนยากแก่การติดตาม มีการแสดงหมายเลขโทรศัพท์ ในขณะรับสายเป็นเบอร์โทร.ของหน่วยงานรัฐ เช่น ดีเอสไอ บริษัท ไปรษณีย์ไทย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้นจะมีการพูดจาโน้มน้าว กดดันจนเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเครือข่าย ในเวลาเดียวกันนั้นก็จะมีชาวต่างชาติที่แฝงตัวมาในฐานะนักท่องเที่ยวกดเงินออกโดยทันที ที่ผ่านมาจับกุมผู้กระทำผิดได้แต่เพียงผู้เปิดบัญชีรับจ้าง ผู้ถอนเงิน และผู้ช่วยเหลือ สนับสนุนรายเล็กๆ ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ
พ.ต.ท.วิชัยกล่าวอีกว่า การสืบสวนของดีเอสไอมุ่งเน้นการทำลายองค์กรเพื่อตัดวงจรการกระทำผิด โดยตรวจสอบพบว่ามีการโทร.ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยระบบ VoIP ผ่านผู้ให้บริการของบริษัท พี เอ็ม เอ็น จำกัด ตั้งอยู่ที่อาคารทศพลแลนด์ 4 เขตบางนา กทม. และในขณะเดียวกัน ทีมสืบสวนได้เฝ้าติดตามดูพฤติกรรมกลุ่มคนไทยผู้ต้องสงสัยซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคนไต้หวัน และมีข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งจนมีฐานะร่ำรวยผิดสังเกต โดยพบเบาะแสว่าจะเดินทางไปยังไต้หวัน ช่วงระหว่างวันที่ 20-25 ก.ย. 2560 ทีมสืบสวนจึงได้ประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเอ็มเจไอบีเฝ้าติดตามพฤติกรรมและหาพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่องจนพบพยานหลักฐานสำคัญเป็นบทพูดภาษาไทยที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ และคนไทยกลุ่มนี้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของคนไต้หวันที่มีประวัติต้องโทษเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงและลักทรัพย์
ขณะที่ พ.ต.ท.ธวัชชัยกล่าวว่า ดีเอสไอจึงได้ประสานงานความร่วมมือกับเอ็มเจไอบีส่งข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อเข้าตรวจค้นเป้าหมายพร้อมกันเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 ได้นำกำลังร่วมกับพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เข้าตรวจค้นบริษัท พี เอ็ม เอ็น จำกัด เพื่อเก็บพยานหลักฐานในติดต่อสื่อสาร VoIP ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ของเครือข่ายผู้กระทำผิด มีการเชื่อมโยงจากเครือข่ายจดทะเบียนทั้งในฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
“ในขณะเดียวกัน เอ็มเจไอบีได้เข้าทำการตรวจค้นที่ทำการของกลุ่มเป้าหมายที่เมืองไทจง และเมืองเหมี่ยวลี่ ประเทศไต้หวัน พบพยานหลักฐานเป็นเอกสารบทพูดที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การสื่อสารที่แสดงได้ว่าร่วมกันกระทำผิดในลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตรวจค้นและจับกุมคนไทยจำนวน 18 คน และคนไต้หวัน 7 คน ซึ่งคนไทยที่ถูกจับกุม 2 คน คือ นางธัญวรรณ วงษ์ภักดี และนายณัฐสิทธิ์ สามตะคุ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีคอลเซ็นเตอร์ โดยได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน”