MGR Online - มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้างก่อตั้งมาตั้งแต่วาตภัยแหลมตะลุมพุก ปี 2505 แต่ไม่ให้ความชัดเจนทำไมไปอยู่กับแก๊ง “แชร์ฌาปนกิจ” นสพ.ตำรวจพลเมือง ที่เคยถูกทางการบุกจับกุม ยันองค์กรมีทั้งคนดีและไม่ดี ลอยแพ “สุภัตทา” แก๊งเจ้ามอญกำมะลอ ด้าน “บิ๊กดีเอสไอ” เผย พบนักข่าวอย่างน้อย 3 - 4 คน ร่วมแจมขบวนการเจ้ามอญลวงโลก
วันนี้ (10 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สโมสรตำรวจ นายปิยวัส ผดุงสรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษมูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย น.อ.ชาวิช เข็มกำเหนิด นายณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล ผู้ประสานงานมูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่กองบังคับการปรามปรามและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เข้าค้นศูนย์ประสานงานบรรเทาภัยพลเมือง มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปภ.บพ.อบ.ภ.สตช.) เลขที่ 91/267 โครงการอาร์เค ออฟฟิศ ปาร์ค ถ.สุวินทวงศ์ แขวงและเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
นายณฐพรหม กล่าวว่า มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อตั้งมาแล้ว 38 ปี ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 39 ซึ่งต่างคนที่เข้ามาก็มีจิตอาสามาตลอด แต่ด้วยบางคนในองค์กรมีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็ตั้งใจมาแถลงข่าว ตามที่ได้ปรากฏข่าวขบวนการต้มตุ๋นหลอกลวงนักธุรกิจไทย และ ข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจค้นสำนักงานศูนย์ประสานงานบรรเทาภัยพลเมือง มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปภ.บพ.อบภ.สตช.) สืบเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ได้จับกุม นางสุภัตทา จันทรรังษี และ นายโกสินธุ์ จินาอ่อน ในข้อหาร่วมกันทุจริตหรือหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับ นางสุภัตทา เป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ฮัจยี กรุ๊ป จำกัด และเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาร่วมกับ นายคยอ มยิน โอ หรือ เจ้าเทพโยธิน มหาทุน ชาวเมียนมา ซึ่งแอบอ้างตนเองเป็นเชื้อสายราชวงศ์มอญ รวมทั้งมีภาพหมู่ของนางสุภัตทา จันทรรังษี กับพวก ที่ใส่เครื่องแบบของมูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นเหตุขยายผลมาตรวจค้นที่สำนักงานศูนย์ประสานงานมูลนิธิฯ ย่านมีนบุรี ซึ่งมี ร.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญยิ่ง เลขาธิการมูลนิธิอาสาบรรเทาภัย รักษาการประธานกรรมการมูลนิธิอาสาบรรเทาภัย ได้ชี้แจงว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นพฤติการณ์ของกลุ่มที่แอบอ้างหาประโยชน์แต่ประการใดเป็นความผิดเฉพาะบุคคลเท่านั้น และจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน น.อ.ชาวิช กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้มีการเข้าค้นซึ่งเป็นสำนักงานที่ตั้งอีกที่หนึ่ง โดยมีบุคคลแอบอ้างว่าเป็นคนของมูลนิธิจากนั้นก็ได้มีการนำเสนอข่าว ซึ่งข่าวบางสำนักที่นำเสนอนั้นไม่เป็นความจริงออกเชิงหมิ่น วันนี้จึงขอชี้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ได้เกิดวาตภัยขึ้นที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเห็นการครั้งนั้นทำให้มีประชาชนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เข้าไปช่วยนั้นเป็นหน่วยงานเดียว คือ กรมตำรวจ โดยกองบังคับการตำรวจดับเพลิง จากประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้เห็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่หลายประการ จึงได้เสนอแนะให้กรมตำรวจจัดตั้ง “หน่วยบรรเทาสาธารณภัย” ขึ้น ต่อมาเมื่อปี 2521 พ.ต.อ.(พิเศษ) อุดม พิบูลสวัสดิ์ ได้ปรึกษากับ พล.ต.ต.ศักดิ์ระพี ปรักกมะกุล ผู้บังคับการตำรวจดับเพลิงได้ขออนุมัติจากกรมตำรวจ เพื่อจัดตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อช่วยเหลือข้าราชการตำรวจดับเพลิง และอาสาสมัครสาธารณภัย
ทั้งนี้ ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีการถ่ายโอนอัตรากำลังพลพร้อมภารกิจ กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ไปขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 ทางมูลนิธิจึงได้ประชุมคณะกรรมการ เพื่อขอมติในที่ประชุมเรื่องสถานที่ สำนักงานและเปลี่ยนชื่อต่อท้ายจาก “มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย กองบังคับการตำรวจดับเพลิง” เป็น “มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” มีมติเห็นชอบให้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และได้มีหนังสือตอบรับตามหนังสือสำนักงาน ที่ ตช.0008/13146 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ลงนามโดย พล.ต.ท.ปทีป ตันประเสริฐ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และทางมูลนิธิได้แก้ไขข้อบังคับในตราสาร โดยถูกต้องตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว (ม.น.4) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550 ลงนามโดย นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์ รองอธิบดีรักษาการแทน อธิบดีกรมการปกครอง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และถ้าหากว่าทำไมมูลนิธิถึงมีคำต่อท้ายว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพราะมีราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 44 ม. หน้าที่ 114 ประกาศเรื่องจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับมูลนิธิอาสาบรรเทาภัย ต่อท้าย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 ซึ่งสามารถตรวจสอบเอกสารได้ ต่อมาปี 2553 ได้มีการแก้ไขข้อบังคับเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม สำหรับอีกเหตุผลหนึ่งเนื่องจากอดีตตั้งอยู่ที่กองบังคับการตำรวจดับเพลิงจากนั้นได้มีมติรัฐมนตรีในยุบกองบังคับการดังกล่าว ทาง พ.ต.อ.(พิเศษ) อุดม พิบูลย์สวัสดิ์ และ พล.ต.ต.ศักดิ์ระพี ปรักกมะกุล ผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง ได้เป็นผู้ก่อตั้ง
น.อ.ชาวิช กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง คือ ผู้กระทำผิดได้ใช้ชื่อมูลนิธิในการแอบอ้าง ซึ่งได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปแล้ว ผู้กระทำผิดได้บริจาคช่วยน้ำท่วมประชาชนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมของช่วยเหลือและจำนวนเงิน 2,999 บาท โดยบุคคลดังกล่าวได้สมัครสมาชิกที่ศูนย์ในจังหวัดชลบุรี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมูลนิธิและหน่วยงานที่ตั้งที่ย่านมีนบุรีเลย สำหรับที่มีการตั้งชั้นยศ อาทิ พล.ต.ต. หรือ พ.ต.ต. หรือ ร.ต.ต. นั้น ไม่มีจริง สำหรับคนที่สมัครนั้นจะเป็นเอกลักษณ์ขีดว่าบุคคลที่อยู่ในขีดนี้มีหน้าที่อะไร หน้าปฏิบัติหน้าที่อะไร สำหรับเครื่องหมายที่มีคนบอกว่าเหมือนตำรวจนั้นไม่ใช่แค่อาจจะคล้าย อยากจะฝากว่าทางกรมตำรวจบอกว่าเครื่องแบบหรือการแต่งกายของมูลนิธิคล้ายตำรวจนั้นก็พร้อมจะแก้ไข แต่หากถามใครได้ประโยชน์ก็ตำรวจ อย่างไรก็ตามการเลื่อนจากขีดไปเป็นสัญลักษณ์ดาวนั้นก็จะอยู่ที่การปฏิบัติงานว่าทำมาน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มูลนิธิมีสถานะอยู่ระหว่างการต่อมูลนิธิและรอการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่ตั้งมูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลขที่ 91/267 ถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี กทม. นั้น เดิมเคยเป็นสำนักงาน นสพ.ตำรวจพลเมือง ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ บุกจับกุมตรวจค้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2558 ฐานมีความผิดเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่มีพฤติการณ์หลอกให้ประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกเพื่อหวังรับค้าตอบแทนจากการฌาปณกิจเมื่อเสียชีวิต ลักษณะการทำงานของสมาชิกหรือเครือข่าย นสพ.ตำรวจพลเมือง ฉากหน้าจะเดินสายนำเงินไปบริจาคให้หน่วยงานราชการต่างๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานีตำรวจ จนถึงระดับกองบังคับการ จากนั้นจะทำข่าวประชาสัมพันธ์และเชิญชวนประชาชนเข้าเป็นสมาชิกโดยเสียค่าสมัคร นอกจากนั้นยังออกระบบแฟรนไชส์เก็บหัวคิวจากตัวแทนแต่น่าประหลาดใจว่าหลังเกิดคดีจนถึงบัดนี้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องหน้าเดิมๆ ยังออกมาลวงโลกได้อีก
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ วันเดียวกัน พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้า ว่า ขณะนี้ นายกอว มินต์ อู (Kyaw Myint Oo) หรือ เจ้าเทพโยธิน มหาทุน ชาวพม่า ที่แอบอ้างเป็นเจ้าแห่งรัฐมอญ ยังไม่ติดต่อเข้ามาแต่อาศัยผู้ร่วมขบวนการข่มขู่ผู้เสียหายผ่านทางกลุ่มแอปพลิเคชั่นไลน์ที่ตั้งขึ้นมาว่าหากมีการแจ้งความจะฟ้องร้องกลับ ซึ่งถ้า นายกอว มินต์ อู แสดงตัวว่าอยู่ที่ใด จะประสานกับหน่วยงานทางราชการของพม่าดำเนินการจับกุมทันที ส่วน มูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจงว่า มีกลุ่มบุคคลแอบอ้างหน่วยงานไปหลอกลวงผู้เสียหายนั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้แต่หลังจากมีผู้เสียหายเข้าให้ปากคำ ดีเอสไอ วานนี้ (9 ต.ค.) จะรวบรวมเป็นพยานหลักฐานในสำนวนต่อไป
“สำหรับ นายโกสินธ์ จินาอ่อน ทำหน้าที่สื่อมวลชน ขณะนี้ ดีเอสไอ นำตัวฝากขังศาลรัชดาแล้ว ส่วน นางสุภัตทา จันทรรังษี ประธานกรรมการบริษัท ฮัจยี กรุ๊ป จำกัด เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวสอบสวนไว้ที่ มทบ.11 เนื่องจากเกี่ยวกับความมั่นคง และ ในวันพรุ่งนี้ (11 ต.ค.) เวลา 14.00 น. ทหารจะนำตัว นางสุภัตทา มาส่ง ดีเอสไอ เพื่อดำเนินการต่อไป” พ.ต.ต.สุริยา กล่าว
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า ส่วนการขยายผลสื่อมวลชนที่ร่วมขบวนการ เบื้องต้นพบมี 3 - 4 ราย และเตรียมเรียกตัวมาให้ข้อมูล ในเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อหา เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม หลังจากเรื่องนี้ สื่อมวลชนควรมีการพูดคุยถึงลักษณะการทำงานอย่างถูกต้องตามจรรยาบรรณที่แท้จริง