xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรกล่าวโทษผู้บริหาร “บ.โอเอ” เลี่ยงภาษี เผยมีรายได้ 6 พันล้าน ยื่นเสียภาษีเพียง 3 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - กรมสรรพากรยื่นหนังสือ ปอศ. เอาผิดอาญาผู้บริหาร “บ.โอเอ” เลี่ยงภาษี ระบุ มีรายได้พึงประเมินกว่า 6 พันล้าน แต่กลับยื่นแบบเสียภาษีเพียง 3 ล้านบาท

วันนี้ (16 ก.ย.) มีรายงานว่า นายไพโรจน์ เจือประทุม รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมสรรพากร ลงนามในหนังสือที่ กค 0715/6015 ลงวันที่ 15 ก.ย. 2560 ถึง พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ หนังสือระบุว่า นายธงชัย มีคู่สมรส ชื่อ นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี มีบุตรจำนวน 4 คน คือ น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี นายโอฬาร โรจน์รุ่งรังสี นายชาติชัย โรจน์รุ่งรังสี และ นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี

สืบเนื่องจากกองตรวจสอบภาษีกลาง ได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ปฏิบัติการตรวจค้นกลุ่มผู้ประกอบการชาวต่างชาติ ที่มาลงทุนโดยใช้ตัวแทนอำพราง (นอมินี) สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเที่ยว ราย บริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ณ สำนักงาน ตั้งอยู่เลขที่ 880/1 ถ.หลวงเพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กทม. ตามหมายค้นของศาลจังหวัดมีนบุรี ที่ 264/2559 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า นายธงชัย มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท โอเอ ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท ประกอบกับได้รับข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ตามหนังสือลับด่วนที่สุดที่ ปง 0004.3/1742 ลงวันที่ 13 กันยายน 2559 หนังสือลับด่วนที่ 0004.3/1732 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2559 หนังสือลับด่วนที่สุดที่ 0004.3/1835 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2559 และหนังสือลับด่วนที่สุดที่ ปง 0004.3/1883 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2559 แจ้งข้อเท็จจริงและข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับนายธงชัย สำหรับปีภาษี 2554 - 2559

กองตรวจสอบภาษีกลาง ได้ตรวจสอบรายการเดินบัญชีซึ่งได้รับจาก ป.ป.ง. พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนายธงชัย และครอบครัว ดังนี้

ตส. ได้มีหนังสือที่ กค 0717/ตส/673 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เชิญพบ นายธงชัย เพื่อให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการมีเงินได้และการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีของนายธงชัย สำหรับปีภาษี 2554 ถึงปี 2555 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายธงชัย ได้มอบอำนาจให้ น.ส.ร่มฟ้า โบสุวรรณ์ มาพบเจ้าพนักงานประเมิน โดย น.ส.ร่มฟ้า ได้ให้การว่า นายธงชัย มีเงินได้จากการขายสินค้าทั่วไป เพื่อนำไปขายแก่นักท่องเที่ยว โดยวางขายที่ร้านค้า ได้แก่ ร้านเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล สินค้าที่วางขาย อาทิ จิวเวลรี่ เครื่องเงิน ไข่มุก ร้านบางกอกแฮนดิคราฟ สินค้าที่วางขาย อาทิ เครื่องหนัง ขนม ของที่ระลึก ร้านอาร์ พี เอ็น สินค้าที่วางขาย อาทิ ยาสมุนไพร ขนม โอทอป และร้านทองทิพย์ของฝาก สินค้าที่วางขาย อาทิ ขนม โอทอป

นอกจากนี้ เงินได้ซึ่งโอนเข้าบัญชี ชื่อบัญชี นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี รวมทั้งบัญชีร่วมของนายธงชัยและนางนิสา นั้น น.ส.ร่มฟ้า ในฐานะผู้ได้รับมอบของนายธงชัย ได้ให้การว่า เนื่องจากบุคคลทั้งสามมีความเกี่ยวข้องในฐานะครอบครัว การโอนเงินให้ระหว่างกันจึงเป็นการให้โดยเสน่หา โดยไม่มีผลตอบแทนแต่อย่างใด อีกทั้งเงินได้เข้าบัญชีธนาคารชื่อบัญชีของบุคคลดังกล่าว นายธงชัย รับว่าเป็นเงินได้ของตนเองทั้งหมด
 
การนำพิสูจน์รายการเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารชื่อบัญชีนายธงชัย นางนิสา น.ส.สายทิพย์ นายวสุรัตน์ บัญชีร่วมนายธงชัย และนางนิสา รวมจำนวน 7,839,533,163.87 บาท ตามข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่ได้รับจากสำนักงาน ป.ป.ง. ว่าได้รับเงินจำนวนดังกล่าวมาจากผู้ใด ชำระมาเป็นค่าอะไร หรือเกิดจากการประกอบกิจการประเภทใด ในระหว่างปีภาษี 2554 - 2559 นั้น น.ส.ร่มฟ้า ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายธงชัย ได้ชี้แจงว่า ยอดเงินที่เข้าบัญชีครอบครัวดังกล่าวเป็นเงินได้ของนายธงชัย ทั้งหมด โดยได้รับมาจากการขายสินค้าที่ร้านเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร้านบางกอกแฮนดิคราฟ ร้านอาร์พีเอ็นและร้านทองทิพย์ของฝาก อีกทั้งนายธงชัยยอมรับว่า ร้านค้าดังกล่าว นายธงชัย จะดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในเดือน ก.ค. 2560 ส่วนความเกี่ยวข้องระหว่างยอดเงินฝากเข้าบัญชีนายบุญชัย โรจน์รุ่งรังสี ซึ่งมีการโอนเงินระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ได้ชี้แจงว่า นายบุญชัย เป็นน้องชาย นายธงชัย ซึ่งเงินฝาก - ถอน ในบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชีนายธงชัย ส่วนใหญ่นายธงชัยเป็นผู้ใช้และจัดการบัญชี ดังกล่าวรวมทั้งการโอนเงินให้แก่เอเจนซี่ต่างๆ เพื่อเป็นค่านายหน้าในการนำลูกทัวร์มาซื้อของในร้านค้านั้น เอเจนซี่จะได้รับเงินค่านายหน้าจากนายธงชัย โดยใช้บัญชีนายบุญชัย หรือ นายธงชัย เป็นผู้โอนเงินค่าตอบแทนดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 สำหรับปีภาษี 2554-2559 นายบุญชัย มีเงินได้จากเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทรอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งนายธงชัย หรือภรรยา เป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว

นายธงชัย มีรายได้จากการขายสินค้า ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า “ขาย” ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในเดือนภาษี ส.ค. 2554 รายได้ดังกล่าวรวมกันแล้วมีจำนงวนสูงกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม หรือเกิน 1,800,000 บาท ต่อปีภาษี เป็นผลให้นายธงชัย เป็นผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 5) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้ ตั้งแต่เดือนภาษี ส.ค. 2554 ถึง ธ.ค. 2559 เงินได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 31,144,599,395.68 บาท

นายธงชัย ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียภาษีในแต่ละเดือนภาษี ตามมาตรา 89 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนภาษีของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร (เงินเพิ่มคำนวณ ถึง วันที่ 15 ก.ย.2560) รวมจำนวนทั้งสิ้น 7,788,362,147.89 บาท

เจ้าพนักงาน อาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษี ส.ค. 2554 ถึง เดือนภาษี ธ.ค. 2559 รวม 64 เดือนภาษี ตามหนังสือแจ้งการประเมินมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ ภพ 73.1-03025190-25600823-005-00195 ถึง 00259 ลงวันที่ 23 ส.ค. 2560 รวมเป็นเงินจำนวน 7,788,362,147.89 (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) โดย.น.ส.ร่มฟ้า โบสุวรรณ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายธงชัย ได้มารับหนังสือแจ้งการประเมินจากเจ้าพนักงาน เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่านายธงชัย ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2554 - 2559 ดังนี้ ปีภาษี 2554 - 2557 นายธงชัย ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เกินกำหนดเวลา โดยยื่นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ปีภาษี 2558 - 2559 นายธงชัย ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร ปี 2558 มีเงินภาษีต้องชำระเพิ่ม จำนวน 39,375 บาท และมีข้อมูลการชำระผ่านเคาน์เตอร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2559 ปีภาษี 2559 นายธงชัยยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เมื่อวันที่ 22 มี.ค. มีเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม 70,000 บาท ชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2560

กรมสรรพากร ขอเรียนว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารและถ้อยคำของเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า นายธงชัย ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2554 - 2559

(1) ปีภาษี 2554 - 2557 นายธงชัย ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เกินกำหนดเวลา โดยยื่นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม จึงยังไม่อาจพิจารณาได้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นหรือไม่
(2) ปีภาษี 2558 - 2559 นายธงชัย ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพากร

ปีภาษี 2558 นายธงชัย ได้ยื่นคำขอยื่นแบบแสดงรายการผ่านเครือข่ายเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2559 ผ่านไอพีแอดเดรส 125.25.204.560 เวลา 16.06 น. เพื่อขอชื่อผู้ใช้ และรหัสผู้ใช้ โดยมีขั้นตอนยืนยันตัวบุคคลผ่านระบบของกรมสรรพากรและเมื่อได้รับการอนุมัติ นายธงชัย จึงสามารถใช้ชื่อผู้ใช้และรหัสผู้ใช้ดังกล่าวเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร เพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษี ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่ของ บอ. แจ้งให้ทราบพบว่า ในวันเดียวกันนั้นมีบุคคลได้ใช้ชื่อผู้ใช้ และรหัสผู้ใช้ ซึ่งนายธงชัย เป็นผู้ขอ และใช้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2558 ของนายธงชัย เวลา 17.52 น. ผ่านไอพีแอดเดรส 125.25.204.56 มีเงินภาษีต้องชำระเพิ่มเติมจำนวน 39,475 บาท และมีข้อมูลการชำระผ่านเคาน์เตอร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2559 ซึ่งถือว่าครบเงื่อนไขของการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพากรอย่างสมบูรณ์แล้ว

จากการพิจารณาข้อมูลตามแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2558 ของนายธงชัย พบว่า นายธงชัยแสดงเงินได้พึงประเมินที่ได้มาจากค่าเช่าในแบบ ภ.ง.ด.90 จำนวน 2,650,000 บาท ซึ่งคำนวณแล้วมีภาษีต้องเสียจำนวน 39,375 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเงินของ นายธงชัย ที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบตามข้อมูลการเงินซึ่งได้รับมาจาก ป.ป.ง. พบว่า นายธงชัย มีรายได้ที่ได้รับมาจาก 4 ร้านค้า คือ ร้านเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร้านบางกอกแฮนดิคราฟ ร้านอาร์ พี เอ็น และร้านทองทิพย์ของฝาก เป็นเงินจำนวน 7,208,724,387.31 บาท และรายได้อื่นที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ จำนวน 1,554,660,150.51 บาท รวมแล้วมีเงินได้จำนวน 8,766,034,537.82 บาท ประกอบกับจากคำให้การของนางร่มฟ้า โบสุวรรณ์ ผู้รับมอบอำนาจของนายธงชัย ซึ่งให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2560 รับว่าร้านดังกล่าวเป็นของนายธงชัย และจากเอกสารหลักฐานในสำนวนตรวจสอบพบว่า ร้านเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร้านบางกอกแฮนดิคราฟ ร้านอาร์ พี เอ็น และร้านทองทิพย์ของฝาก นั้นได้มีการจดทะเบียนไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นและบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของร้านดังกล่าวได้มอบอำนาจให้แก่นายธงชัย ในการบริหารจัดการตลอดจนการเบิกถอนเงินจากบัญชีของร้าน ดังนี้ 1. ร้านเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทะเบียนที่ อ.742 ออกให้ น.ส.สกุล แซ่ตั้ง 2. ร้านบางกอกแฮนดิคราฟ ทะเบียนที่ อ.741 ออกให้ นางกาญจนา เพ็ญสวัสดิ์ 3. ร้านอาร์ พี เอ็น ทะเบียนที่ 3460500132195 ออกให้ นายไวพจน์ จินภักดี 4. ร้านทองทิพย์ของฝาก ทะเบีนที่ 3240700044305 ออกให้ นายประชัน ดวงดาว

พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายธงชัย มีเจตนาที่จะกระจายฐานภาษีเงินได้ของตนไปยังหน่วยภาษีซึ่งนายธงชัย สร้างขึ้นมาโดยชื่อบุคคลอื่น อันเป็นความเท็จ อันเป็นการกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อมิให้ต้องเสียภาษีจากเงินได้ซึ่งตนได้รับมาจากการขายสินค้าผ่านร้านค้าดังกล่าว การที่นายธงชัย มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2558 จำนวน 8,766,034,537.82 บาท แต่กลับแสดงเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด.90 เฉพาะค่าเช่า จำนวน 2,650,000 บาท โดยยื่นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2559 ผ่านไอพีแอดเดรส 125.25.204.56 เวลา 16.06 น. เข้าลักษณะเป็นการกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นในทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 อันเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้กรมสรรพากรเสียหาย

ปีภาษี 2559 นายธงชัย ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2560 เวลา 19.02 น. ผ่านไอพีแอดเดรส 110.168.5.208 มีเงินภาษีต้องชำระเพิ่มเติมจำนวน 70,000 บาท ชำระผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2560 ซึ่งถือว่าครบเงื่อนไขของการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของกรมสรรพากรอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่จากการพิจารณาข้อมูลตามแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2559 ของนายธงชัย พบว่า นายธงชัย แสดงเงินได้พึงประเมินที่ได้มาจากค่าเช่าในแบบภ.ง.ด.90 จำนวน 3,000,000 บาท เมื่อคำนวณแล้วมีภาษีต้องเสียจำนวน 70,000 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเงินของนายธงชัย ที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบตามข้อมูลการเงินที่ได้รับจาก ป.ป.ง. พบว่า นายธงชัยมีรายได้ที่ได้รับจาก 4 ร้านค้า คือ ร้านเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร้านบางกอกแฮนดิคราฟ ร้านอาร์ พี เอ็น และร้านทองทิพย์ของฝาก เป็นจำนวน 4,725,118,332.37 บาท และรายได้อื่นที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้อีกจำนวน 1,483,562,549.51 บาท รวมแล้วมีเงินได้จำนวน 6,211,680,811.88 บาท ประกอบกับจากคำให้การของ น.ส.ร่มฟ้า โบสุวรรณ์ ผู้รับมอบอำนาจจากนายธงชัย ซึ่งให้ไว้กับเจ้าพนักงานประเมินเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2560 รับว่า ร้านค้าดังกล่าวเป็นของนายธงชัย และจากหลักฐานในสำนวนตรวจสอบพบว่า ร้านเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร้านบางกอกแฮนดิคราฟ ร้านอาร์ พี เอ็น และร้านทองทิพย์ของฝาก นั้นได้มีการจดทะเบียนไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยใช้ชื่อบุคคลอื่น และบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าดังกล่าวได้มอบอำนาจให้แก่นายธงชัย ในการบริการจัดการตลอดจนการเบิกถอนเงินจากบัญชีร้าน ดังนี้ 1. ร้านเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทะเบียนที่ อ.742 ออกให้ น.ส.สกุล แซ่ตั้ง 2. ร้านบางกอกแฮนดิคราฟ ทะเบียนที่ อ.741 ออกให้ นางกาญจนา เพ็ญสวัสดิ์ 3. ร้านอาร์ พี เอ็น ทะเบียนที่ 3460500132195 ออกให้ นายไวพจน์ จินภักดี 4.ร้านทองทิพย์ของฝาก ทะเบีนที่ 3240700044305 ออกให้ นายประชัน ดวงดาว

พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายธงชัย มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษี เงินได้ ซึ่งนายธงชัย ได้สร้างขึ้นมาโดยใช้ชื่อบุคคลอื่น อันเป็นความเท็จ อันเป็นการกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อมิให้ต้องเสียภาษีจากเงินได้ซึ่งตนได้รับมาจากจากการขายสินค้าผ่านร้านค้าดังกล่าว การที่นายธงชัย มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2558 จำนวน 6,211,680,811.88 บาท แต่กลับแสดงเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด.90 เฉพาะค่าเช่า จำนวน 3,000,000 บาท โดยยื่นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2560 เวลา 19.02 น. ผ่านไอพีแอดเดรส 110.168.5.208 เข้าลักษณะเป็นการกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงภาษีอากรตามลักษณะ 2 อันเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้กรมสรรพากรเสียหาย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินคดีอาญากับ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้นายภาณุพงศ์ ลิ้มโฆษิต นิติกร ชำนาญการและนายอาภิวัฏฐ์ คงสุวรรณ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ กองสืบสวนและคดี กรมสรรพากรเป็นผู้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยแล้ว อนึ่งหากในทางการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีการกระทำความผิดอื่นหรือมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยก็ขอให้แจ้งกรมสรรพากรเพื่อดำเนินการร้องทุกข์เพิ่มเติมต่อไป ผลคดีเป็นประการใดหรือต้องการเอกสารหลักฐานใดเพิ่มเติม ขอได้โปรดแจ้งกรมสรรพากรทราบด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น