xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแพ่งสั่ง กคป.ใช้ค่าเสียหาย ปตท.เกือบ 10 ล้าน ยึดพื้นที่ชุมนุมปี 57

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลแพ่งสั่งแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย หรือ กคป. ใช้ค่าเสียหาย ปตท.เกือบ 10 ล้าน เหตุบุกชุมนุมในพื้นที่อาคารกระทรวงพลังงาน-ปตท.ปี 57 ชี้เป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์

วันนี้ (1 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา, นายทศพล แก้วทิมา, นพ.ระวี มาศฉมาดล และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กลุ่มแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย หรือ กคป. เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานกระทำละเมิด เรียกค่าเสียหายจากกรณีเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2557 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำผู้ชุมนุมบุกรุกบริเวณพื้นที่ของอาคารเอนเนอร์ยีคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ของอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท ปตท. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปครอบครองพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2557 ต่อเนื่องมา ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้อาคารและพื้นที่ทั้งหมดในสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท.ได้ เป็นเหตุให้ต้องปิดอาคารสำนักงานใหญ่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และขาดรายได้จากการประกอบกิจการ ขอให้ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 15,920,737.54 บาท ชดใช้เงินค่าขาดรายได้วันละ 123,160.83 บาท และชดใช้เงินต้นทุนที่เพิ่มขึ้นวันละ 280,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การว่าได้เข้าไปร่วมชุมนุมโดยชอบ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 และ 4 มีพฤติการณ์ชุมนุมโดยขึ้นเวทีปราศรัย และเป็นตัวแทนเข้าร่วมในการเจรจา ทั้งยังมีพฤติการณ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นแกนนำเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่ม กคป. และบุกรุกเข้าไปในพื้นที่อาคารเอนเนอร์ยีคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของกระทรวงพลังงาน โดยมีพื้นที่ต่อเนื่องกับอาคารสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท.โดยไม่มีรั้วกั้น และต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนย้ายเข้าไปในพื้นที่ของอาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. มีการใช้อุปกรณ์ตัดเชื่อม ตัดโซ่เหล็กที่คล้องประตู และตัดแผ่นเหล็กที่เชื่อมประตูเหล็กทั้งสองบานด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการนำกระสอบทรายและยางรถยนต์มาสร้างเป็นแนวป้องกันโดยรอบบริเวณพื้นที่ชุมนุมและบนพื้นผิวจราจร ถ.วิภาวดีรังสิต ด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ตลอดแนว มีการตั้งเวทีปราศรัยขนาดใหญ่ ติดตั้งเครื่องขยายเสียง เครื่องปั่นไฟ และเต็นท์ มีการจัดกิจกรรมโดยใช้เครื่องขยายเสียงส่งเสียงดังรบกวนอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยทั้งสี่และผู้ชุมนุมส่งผลให้พนักงานบริษัท ปตท.และประชาชนไม่สามารถหรือไม่สะดวกในการเข้าใช้อาคารและพื้นที่ทั้งหมดของโจทก์เพื่อประกอบการงานตามปกติได้ จึงเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการรบกวนการครอบครองอาคารสำนักงานของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การชุมนุมของจำเลยทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ที่บัญญัติว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 9,714,480 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น