MGR Online - เจ้าของฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือเครย์ฟิช แจ้งจับ ปธ.สหพันธ์ฯ ไม่ได้จดทะเบียนทางธุรกิจ หลอกให้ลงทุนเลี้ยงกุ้งผ่านทางเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 59 โดยอ้างว่าจะรับซื้อลูกกุ้งเมื่อโตแล้ว แต่สุดท้ายหายเข้ากลีบเมฆ พบผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย
วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 11.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วยนางวิจิตรา จงทัน รองนายกสมาคมพืชไร่เพชรบูรณ์ ได้พาผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกให้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือเครย์ฟิช กว่า 10 ราย เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่อ้างตัวเป็นประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อ หรือกุ้งเครย์ฟิช ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน, ความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมามอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาดำเนินคดี
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นทางผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์ต่อทางสมาคมฯ ว่าถูกประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ หลอกลวงโดยชักชวนให้ร่วมลงทุนเลี้ยงกุ้งพันธุ์ดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง เช่น กลุ่มเครย์ฟิชไทยแลนด์ ตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยอ้างว่าจะรับซื้อคืนเมื่อกุ้งโตในราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 400-700 บาท แล้วแต่ขนาดของกุ้ง ซึ่งผู้สนใจจะต้องเสียเงินค่าสมัครขั้นต่ำ 15,000 บาท จะได้รับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กุ้งไปเลี้ยง
นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับสมัครให้ผู้ที่ต้องการเป็นหัวหน้าสายระดับอำเภอซึ่งเสียเงินค่าสมัคร 30,000 บาท หรือหัวหน้าสายระดับจังหวัด เสียค่าสมัคร 50,000 บาท เมื่อสามารถชักชวนบอกต่อผู้อื่นให้มาสมัครเข้าร่วมเลี้ยงกุ้งดังกล่าวซึ่งจะได้รับผลตอบแทน 10% จากเงินค่าสมัครสมาชิกของผู้สนใจรายใหม่ทันที เช่น ผู้สมัครสมาชิกจ่ายเงินขั้นต่ำ 15,000 บาท หัวหน้าสายก็จะได้รับเงินทันที 1,500 บาท ส่วนที่เหลือจึงนำส่งให้ทางสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ
นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก เพราะประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ จะสร้างความน่าเชื่อถือด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น การนำนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งพันธุ์นี้ มาบรรยายให้ความรู้ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ รวมทั้งมีการถ่ายภาพเผยแพร่เมื่อมีการรับซื้อกุ้งดังกล่าว แต่พบข้อมูลว่า หลังจากต้องใช้เวลาเลี้ยงกุ้งนานกว่า 4-6 เดือน จนกุ้งโตได้ขนาด 4-6 นิ้วก็จะรับซื้อคืนจริง เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ภายหลังก็ไม่ได้รับซื้อคืนแต่อย่างใด โดยกุ้งที่รับซื้อคืนก็จะถูกนำไปใช้หลอกลวงผู้เสียหายรายอื่นต่ออีก
“นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า สหพันธ์แห่งนี้ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจต่อกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด เป็นการแอบอ้างเพื่อหลอกลวง ขณะนี้พบว่ามีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 รายจากทั่วประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท” นายศรีสุวรรณกล่าว
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้รับเรื่องไว้พร้อมสอบปากคำผู้เสียหาย ก่อนนำเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป