xs
xsm
sm
md
lg

สอบทุจริตข้าว อคส.นครสวรรค์ เสียหายกว่า 200 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ป.ป.ท.ลงพื้นตรวจสอบทุจริตข้าว อคส.นครสวรรค์ พบไม่มีข้าวส่งมาบริษัท เสียหายกว่า 200 ล้านบาท สืบเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556

วันนี้ (1 มิ.ย.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า ศิริวรรณ จ.นครสวรรค์ ที่เก็บรักษาข้าวขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ขนส่งข้าว จำนวน 6,205.30 ตัน ส่งให้ปลายทาง บ.สิงโตทอง จ.กำแพงเพชร เพื่อนำไปแปรสภาพ โดยพบว่ามีการเซ็นรับโดยหัวหน้าคลังสินค้าเป็นผู้จัดทำเอกสาร แต่กลับไม่มีข้าวส่งมาที่บริษัทสร้างความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท และสืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556

นายประยงค์กล่าวว่า การเดินทางมาตรวจสอบในครั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเดิมและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก โดยประสาน อคส.ซึ่งระบุว่าได้ฝากข้าวไว้ที่คลังดังกล่าว 1 แสนกระสอบ หรือประมาณ 1 หมื่นตัน เบื้องต้นทราบว่าคลังแห่งนี้ต้องส่งสินค้ากระจายไปหลายจังหวัด และต้องตรวจสอบอีกว่าจำนวนข้าวที่เหลือกระจายไปอยู่ที่ใด ทั้งนี้ หลังตรวจสอบพบว่าไม่มีข้าวส่งไปปลายทาง แต่มีการทำเอกสารส่งและรับข้าวจาก อคส. จึงแจ้งความดำเนินคดีต่อหัวหน้าคลังสินค้า

“ในส่วนของ ป.ป.ท.ได้สั่งการให้ตรวจสอบเส้นทางข้าวจำนวน 1 แสนกระสอบที่ถูกเก็บไว้กับโกดังศิริวรรณ ซึ่งรับฝากข้าวจำนวนดังกล่าวสูญหายไปแล้ว 6,000 ตัน ส่วนที่เหลือสูญหายไปด้วยหรือถูกระบายไปยังจุดใด ซึ่งคดีที่ จ.นครสวรรค์ ป.ป.ท.ตั้งอนุไต่สวนเป็นคดีใหม่ทำให้ขณะนี้มีสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องเพิ่มจาก 987 สำนวน เป็น 990 สำนวน และยังมีคดีรอรับเพิ่มจากตำรวจอีก 9 สำนวน” นายประยงค์กล่าว

ด้าน พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการ อคส.ว่า โกดังดังกล่าวเคยถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบข้าวชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เมื่อปี 2557 โดยตรวจพบว่ามีการนำข้าวขาวมาล้อมกองข้าวเหนียว จากการตรวจสอบ อคส.ได้แจ้งความไปแล้วกว่า 700 สำนวน มีเพียงโกดังแห่งนี้ที่เจ้าหน้าที่ทราบข้อเท็จจริงแต่ไม่ยอมเข้าแจ้งความดำเนินคดี วานนี้ (31 พ.ค.) จึงได้มอบฝ่ายกฎหมายเข้าแจ้งความที่กองปราบปราม หลังจากนี้จะดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีอาญาทุกราย ส่วนกรณีที่เจ้าของคลังและเจ้าหน้าที่ อคส.และเซอร์เวเยอร์พยายามแก้ตัวว่าข้าวที่นำมาเก็บยังไม่ได้ทำสัญญา เจ้าของโกดังก็ยังไม่ได้รับค่าปรับปรุงสภาพข้าวนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง แต่ทุกคนยอมรับในข้อเท็จจริงแล้วว่ามีข้าวนำเข้ามาจัดเก็บ เมื่อรู้ว่ามีการกระทำผิดแต่นิ่งเฉยอยู่เป็นปี หลังเกิดเหตุไฟไหม้ก็คัดแยกข้าวไปวางกองภายนอกอ้างรอเคลมประกันเพื่อจ่ายคืนค่าเสียหายให้ อคส. ตรงนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบว่าปฏิบัติไปตามขั้นตอนหรือไม่

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การแจ้งความของเจ้าหน้าที่ อคส.เพิ่งดำเนินการก่อนเพียง 1 วันก่อน ป.ป.ท.ลงพื้นที่ตรวจสอบ สำหรับสภาพข้าวภายในโกดังที่มีจำนวนมากพบว่าอยู่ในสภาพเสียหายทั้งหมด เพราะถูกทิ้งไว้ ไม่มีการรมยาและปรับปรุงคุณภาพข้าวตามกำหนดเวลา ทำให้เดิมเสียหายเพียงการทุจริตนำข้าวเจ้าล้อมข้าวเหนียว แต่เมื่อไม่มีการดูแลตามขั้นตอนทำให้ข้าวกลับเสียหายทั้งหมด คาดว่าเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 223 ล้านบาท

สำหรับกรณีดังกล่าว อคส.ได้นำข้าวไปฝากที่โกดังกลาง 14 จังหวัด ประกอบด้วย นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุรินทร์ พิจิตร ชัยนาท พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สระบุรี อุบลราชธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม อุทัยธานี และเชียงใหม่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมี 4 จังหวัดที่มีความเสียหายสูงสุดหลักหมื่นล้านบาท ประกอบด้วย จ.นครสวรรค์ เป็นถูกดำเนินคดีมากที่สุด 201 คดี ความเสียหายกว่า 25,000 ล้านบาท รองลงมาคือ กำแพงเพชร มี 102 คดี เสียหายกว่า15,000 ล้านบาท สุรินทร์ มี 94 คดี เสียหายกว่า 13,000 ล้านบาท และพิจิตร มี 60 คดีเสียหาย 12,000 ล้านบาท

ขณะที่แยกเป็นเขตพื้นที่จะพบว่า ป.ป.ท.เขต 6 เกิดความเสียหายรวมเกินครึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียทั้งหมดกว่า 1 แสนล้าน ในพื้นที่เขต 6 มี 507 คดีเสียหายกว่า 66,000 ล้านบาท คามเสียหายกระจายในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี

กำลังโหลดความคิดเห็น