MGR Online - “รองปลัดยุติธรรม” โพสต์เฟซบุ๊กคดี 2 ตา ตัดไม้พะยูงในที่ดินตัวเอง ตาม กม. ยอมความไม่ได้ จำเป็นต้องดำเนินคดี เผย “กระทรวงยุติธรรม” อนุมัติช่วยเหลือ “2 ผู้เฒ่า” ลุ้นอัยการมีสิทธิสั่งไม่ฟ้องคดี เหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
วันนี้ (25 ธ.ค.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความระบุว่า “คดีคุณตาไม้พะยูงจะเดินไปจบและสุดทางที่ตรงไหน ...มุมอับกระบวนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกฎหมายของประชาชน และการสนองตอบบริการจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางช่วงตอนที่ต้องปรับปรุง..!?
ไม้พะยูง เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรตามมาตรา 7 ที่ได้แก้ไขตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 107/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือเป็นไม้หวงห้ามธรรมดา ซึ่งการทำไม้นั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับสัมปทานตามมาตรา 6 พระราชบญัญัตินี้แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 เสียก่อน
จากพฤติการณ์แห่งคดีของคุณตาทองสุข พันชมภู อายุ 80 ปี และคู่เขยคุณตาเดิน จันทกล อายุ 70 ปี นั้น แม้เป็นไม้พะยูงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดินของตนเอง ที่เมื่อช่วงหน้าฝนเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถูกพายุพัดจนล้มขวางถนน ทำให้ราษฎรไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไป-มา เพื่อนำขยะไปทิ้งที่บ่อขยะของเทศบาลได้ ทำให้ชาวบ้านต้องขับขี่รถอ้อมไปเข้ามาในที่ของคุณตา จนได้รับความเดือดร้อน จึงได้ไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่มีหน่วยงานใดมาตัดไม้ให้
ดังนั้น เมื่อทำนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ชวนนายเดิน ซึ่งเป็นคู่เขยให้มาช่วยตัดไม้ เพื่อให้สามารถใช้เส้นทางได้เหมือนเดิม อีกทั้งไม้พะยูงก็ผุและปลวกขึ้น คุณตาจึงคิดจะตัดไม้ไปทำฟืน โดยที่ไม่ได้คิดจะนำไปขาย หรือนำมาปลูกบ้าน หรือซ่อมแซมบ้าน เพราะคนโบราณเชื่อกันว่า ไม้ที่หักเป็นไม้ล้ม หากนำไปทำบ้านก็จะถือว่าไม่เป็นสิริมงคล ต้องเป็นไม้ยืนต้นที่ไปตัดเอง จึงทำได้เพียงนำไปทำฟืนเท่านั้น
กรณีความผิดของคุณตาทั้งสองนี้ ต้องตามมาตรา 69 (36) พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ที่ว่าผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง หรือรอยตรารัฐบาลขาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะนี้ กองทุนยุติธรรม ได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีตั้งแต่ค่าปล่อยตัวชั่วคราว และค่าจ้างทนายความในการดำเนินคดี
คดีนี้รัฐเป็นผู้เสียหายจึงเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นต้องดำเนินการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าว พนักงานอัยการอาจเสนออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 เนื่องจากพนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ ตามระเบียบที่สํานักงานอัยการสูงสุดกําหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.
แต่หากพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาล และคุณตาทั้งสองก็ให้การรับสารภาพ ทนายความที่กองทุนยุติธรรมแต่งตั้งให้ ก็จะเขียนคำร้องต่อศาลโดยอ้างเหตุตามพฤติการณ์แห่งคดี ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน อีกทั้งมีอายุมาก จึงให้ปรานีลงโทษสถานเบา โดยขอให้ศาลสั่งให้สืบเสาะและพินิจ ซึ่งก็อยู่ที่ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา ที่ท่านนายกรัฐมนตรี เห็นว่า กระบวนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกฎหมายให้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงกระบวนการให้บริการประชาชนตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาล โดยได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงยุติธรรม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องรับไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและเห็นผลอย่างชัดเจนต่อไป”
อนึ่ง หากประชาชนยากจนและด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมได้ ท่านสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม โทร. 02 5026178 หรือโทรสาร 02 5026741
ด้านเรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงนายทองสุข พันชมภู อายุ 80 ปี และคู่เขยนายเดิน จันทกล อายุ 70 ปี ถูกจับกุมข้อหาลักลอบตัดไม้พะยูงถูกพายุพัดจนล้มขวางถนนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดินของตนเอง ว่า ในการที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาได้นั้น ประกอบด้วย 3 เหตุคือ พยานหลักฐานฟังแล้วไม่พอที่จะฟังได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิด, พยานหลักฐานรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด และคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ในกรณีของชายชรา 2 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหานั้นถ้าดูตามสภาพที่ปรากฏ คาดว่าชาวบ้านทั้ง 2 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาอาจจะยังไม่ทราบขั้นตอนของกฎหมายชัดเจน ซึ่งจะต้องมีการดุว่าการกระทำดังกล่าวเจตนาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป่าไม้หรือไม่ เชื่อว่าหากมีการส่งสำนวนถึงอัยการ อัยการผู้รับผิดชอบสำนวนดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง สภาพแวดล้อม รวมถึงพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายของผู้ต้องหาด้วยอย่างแน่นอน
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่อัยการจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้วขั้นตอนคดีนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เรือโทสมนึก กล่าวว่าคดีนี้เป็นคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้เป็นความผิดอาญาและเป็นคดีต่างจังหวัดจึงเป็นอำนาจของอัยการจังหวัด และถ้าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง แต่อัยการจังหวัดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใหม่กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค เห็นตามที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี คดีก็จะเป็นเด็ดขาดยุติโดยไม่ต้องส่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค มีความเห็นแย้งสั่งให้ฟ้องคดี ก็จะต้องส่งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดเป็นที่สุด
นอกจากนี้ยังมีอีกกรณี คือถ้าพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการ และอัยการจังหวัดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องขั้นตอนก็ยังจะต้องส่งไปให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคมีความเห็นอีกเช่นเดียวกัน ถ้าเห็นตรงกันคดีก็เป็นที่ยุติ แต่ถ้าเห็นแย้งก็จะต้องส่งอัยการสูงสุดชี้ขาดตามขั้นตอนเช่นเดียวกันกับกรณีแรก แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว ทั้งตำรวจและอัยการเห็นควรสั่งฟ้องก็จะต้องส่งผู้ต้องหาฟ้องศาลตามกฏหมาย