xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแจงกฎหมายปล่อยตัว “หมอนิ่ม-ทนายอี๊ด” ยึดตาม ป.วิอาญา ม.108/1 น่าเชื่อถือ-มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม
MGR Online - “โฆษกศาลยุติธรรม” แจงข้อกฎหมายปล่อยชั่วคราว “หมอนิ่ม-ทนายอี๊ด” คดีฆ่า “เอ็กซ์ จักรกฤษณ์” ยึดหลักตาม ป.วิอาญา ม.108/1 ระบุศาลอุทธรณ์เห็นหลักประกันน่าเชื่อ-มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ย้ำข้อเท็จจริงรายคดีต่างกัน การประกันพิจารณารายบุคคล

วันนี้ (21 ธ.ค.) นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายข้อกฎหมายการปล่อยชั่วคราว จากกรณีที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม ภู่เจริญยศ และนายสันติ ทองเสม หรือทนายอี๊ด จำเลยที่ 3-4 คดีจ้างวานฆ่านายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม ว่าการที่ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะต้องปรากฏเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 กล่าวคือ (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวอีกว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาลตาม (2), (3) และ (5)

คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพียงว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีภูมิลำเนาที่อยู่และประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงไม่มีพฤติการณ์ที่สงสัยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 น่าจะหลบหนี ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ ในสำนวนคดีเป็นเรื่องๆ ไป เพราะข้อเท็จจริงในแต่ละสำนวนไม่เหมือนกัน

เมื่อหลักประกันที่ผู้ร้องขอประกันน่าเชื่อถือ ศาลอุทธรณ์จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3 และที่ 4 อันเป็นการพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยกำหนดมาตรการป้องกันการหลบหนีด้วยการห้ามจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรสอดคล้องกับหลักการอันเป็นสากลว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด

กำลังโหลดความคิดเห็น