xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” สั่งดีเอสไอร่วม ตร.วางแผนจับ “ธัมมชโย” หากไม่ทำเท่ากับเลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รมว.ยุติธรรม สั่งการดีเอสไอประสาน ตร.และ อัยการ วางแผนร่วมกันจับ “ธัมมชโย” ย้ำหากไม่จับเหมือนเลือกปฏิบัติ กลายเป็นบรรทัดฐานของคดีอื่นหากถูกกล่าวอ้าง



วันนี้ (28 พ.ย.) กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบการติดตามจับกุมพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในฐานะความผิดสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร ว่าได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ดูแลเรื่องดังกล่าว ตนได้โทรศัพท์สอบถาม พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้พูดคุยประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อัยการให้เรียบร้อย พร้อมวางแผนการทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน และให้มารายงานตนว่าดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ เมื่ออัยการสั่งฟ้องก็เป็นหน้าที่ดีเอสไอต้องปฏิบัติและหาวิธีจัดการ โดยแนะนำว่าให้ไปพูดคุยกับวัดพระธรรมกายและผู้บังคัญชาทางสงฆ์ และไม่อยากใช้มาตรการผิดปกติ

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ได้สอบถามไปยังดีเอสไอบอกว่าอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย การขอหมายค้นจากศาลต้องทราบที่อยู่ชัดเจนและไม่น่าจะมีปัญหาหากสามารถยืนยันต่อศาลได้ โดยครั้งแรกดีเอสไอขอหมายค้นก็ไม่มีปัญหาอะไร และถ้ายืนยันว่าอยู่ก็ต้องไปพิสูจน์ในศาล

“ผมไม่ทราบว่าดีเอสไอประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอัยการอย่างไร ดำเนินการให้แล้วเสร็จในสัปดาห์นี้หรือไม่ เนื่องจากสัปดาห์หน้าจะมีงานสำคัญภายในวัดพระธรรมกายอาจทำให้คนเข้าวัดจำนวนมาก ส่วนถ้าทางตำรวจได้ตัวก่อน ดีเอสไอก็ต้องประสานเพราะมีหมายจับเหมือนกันและผู้ถูกกล่าวหาคนเดียวกันด้วย นอกจากนี้ หากศาลไม่อนุญาตการประกันตัวก็ต้องสึกตามกฎหมาย”

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการมีผู้เข้ามาขัดขวางเจ้าหน้าที่นั้น ดีเอสไอพบตั้งแต่ขอหมายค้นครั้งแรกแล้วซึ่งมีความกังวลเพราะไม่อยากให้เป็นเรื่องบานปลายจะมาอ้างว่าปฏิบัติธรรมแต่เกิดภาพเหมือนการไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าไปขอตรวจค้นจนถึงมีการฟ้องร้องผู้ที่ขัดขวางเจ้าหน้าที่ ซึ่งภาพมันชัดเจน โดย นายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้เรื่องเกินเลยเป็นปัญหาอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าทางตำรวจดีเดย์ถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ และทางดีเอสไอกำหนดการหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้ถามดีเอสไอ แต่ไม่น่าใช้คำนี้เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ แต่ขั้นตอนควรวางแผนให้รอบคอบ ไม่ใช่คือขีดเส้นตายในความหมายของตน

ผู้สื่อข่าวถามว่าครั้งที่ 2 จะดำเนินการจับกุมอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์เผยอีกว่า จะให้เจ้าหน้าที่ไม่ทำงานได้หรือไม่ ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แต่หากดีเอสไอไม่ทำก็เป็นคนพิเศษขึ้นมาเหมือนเลือกปฏิบัติและไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งทำให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเลือกปฏิบัติและจะกลายเป็นข้ออ้างและสังคมยอมรับในสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เพราะดีเอสไอต้องทำคดีอื่นๆ อีกหลายคดี และผู้ต้องหาอ้างคดีนี้ขึ้นมา ดีเอสไอจะตอบคำถามอย่างไรถ้าทำกรณีนี้มีข้องดเว้นได้ ซึ่งเป็นมาตราฐานกระบวนการยุติธรรมและดีเอสไอด้วย อย่างไรก็ตาม ตนรออธิบดีดีเอสไอรายงานอีกที แต่ท้ายสุดต้องจัดการให้เรียบร้อยตามกระบวนการยุติธรรม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น