เมืองไทย 360 องศา
หลายคนยังเป็นกังวลว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บุกเข้าจับกุม พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือ ธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังจากทางพนักงานอัยการสั่งฟ้องในคดีร่วมกันรับของโจรและร่วมกันฟอกเงิน โดยอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายรูปนี้กำลังถูกออกหมายจับอย่างน้อย 3 คดีแล้ว โดยสองหมายจับเป็นคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ยังขัดขืนการจับกุมโดยอ้างว่าป่วย และไม่ยอมให้คณะแพทย์จากภายนอกเข้าไปตรวจสอบอาการ
อย่างไรก็ดี แม้ว่ากรณีคดีของ ธัมมชโย จะยืดเยื้อมาอย่างน้อย สี่ห้าเดือนแล้วจนหลายคนในสังคมรู้สึกหงุดหงิดรำคาญกับการไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ต้องหา หรือกับผู้กระทำผิดอย่างเท่าเทียมกัน จนทำให้ผู้ต้องหารายนี้ลอยนวลและท้าทายกฎหมาย ท้าทายอำนาจรัฐอยู่ในทุกวันนี้ แต่ถึงอย่างไรเมื่อทางอัยการสั่งฟ้องในคดีฟอกเงินและรับของโจร ไปแล้ว มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นนั่นคือหากผู้ต้องหาไม่ยอมมอบตัวก็ต้องจับกุม หรือหากมีการ “ต่อสู้ขัดขืน” ก็คงต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหว และท่าทีจากเจ้าหน้าที่แล้วเชื่อว่ามีกำหนด “เส้นตาย” ให้มอบตัวไว้ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน หากพ้นกำหนดวันดังกล่าวก็คงต้องดำเนินการบุกเข้าจับกุมสถานเดียว
พิจารณาจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ดูแลเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้โทรศัพท์สอบถาม พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้พูดคุยประสานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อัยการ ให้เรียบร้อย พร้อมวางแผนการทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน และให้มารายงานว่า ดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อ อัยการสั่งฟ้องก็เป็นหน้าที่ ดีเอสไอ ต้องปฏิบัติและหาวิธีจัดการ โดยแนะนำว่าให้ไปพูดคุยกับวัดพระธรรมกาย และผู้บังคัญชาทางสงฆ์ และไม่อยากใช้มาตรการผิดปกติ
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ได้สอบถามไปยัง ดีเอสไอ ก็บอกว่าอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย ซึ่งการขอหมายค้นจากศาลต้องทราบที่อยู่ชัดเจน และไม่น่าจะมีปัญหาหากสามารถยืนยันกับทางศาลได้ โดยครั้งแรก ดีเอสไอ ขอหมายค้นก็ไม่มีปัญหาอะไรและถ้ายืนยันว่าอยู่ก็ต้องไปพิสูจน์ในศาล
“ผมไม่ทราบว่า ดีเอสไอ ประสานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อัยการ อย่างไรในการดำเนินการให้แล้วเสร็จในสัปดาห์นี้หรือไม่ เนื่องจากสัปดาห์หน้าจะมีงานสำคัญภายในวัดพระธรรมกายอาจทำให้คนเข้าวัดจำนวนมาก ส่วนถ้าทาง ตำรวจ ได้ตัวก่อน ดีเอสไอ ก็ต้องประสาน เพราะมีหมายจับเหมือนกันและผู้ถูกกล่าวหาคนเดียวกันด้วย นอกจากนี้ หากศาลไม่อนุญาตการประกันตัวก็ต้องสึกตามกฎหมาย”
“สำหรับการมีผู้เข้ามาขัดขวางเจ้าหน้าที่นั้น ดีเอสไอ พบตั้งแต่ขอหมายค้นครั้งแรกแล้วซึ่งมีความกังวล เพราะไม่อยากให้เป็นเรื่องบานปลายจะมาอ้างว่าปฏิบัติธรรมแต่เกิดภาพเหมือนการไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าไปขอตรวจค้น จนถึงมีการฟ้องร้องผู้ที่ขัดขวางเจ้าหน้าที่ ซึ่งภาพมันชัดเจน โดย นายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้เรื่องเกินเลยเป็นปัญหาอื่นๆ”
“ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แต่หาก ดีเอสไอ ไม่ทำก็เป็นคนพิเศษขึ้นมาเหมือนเลือกปฏิบัติและไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งทำให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเลือกปฏิบัติและจะกลายเป็นข้ออ้าง และสังคมยอมรับในสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เพราะ ดีเอสไอ ต้องทำคดีอื่นๆ อีกหลายคดี และ ผู้ต้องหา อ้างคดีนี้ขึ้นมา ดีเอสไอ จะตอบคำถามอย่างไร ถ้าทำกรณีนี้มีข้องดเว้นได้ ซึ่งเป็นมาตราฐานกระบวนการยุติธรรมและ ดีเอสไอ ด้วย อย่างไรก็ตาม ผมรอ อธิบดีดีเอสไอ รายงานอีกทีแต่ท้ายสุดต้องจัดการให้เรียบร้อยตามกระบวนการยุติธรรม”
ฟังคำพูดของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ดังกล่าวก็เข้าใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ตำรวจอัยการต้องทำงานประสานกัน เพื่อเอาตัวผู้ต้องหารายนี้มาให้ได้ ซึ่งน่าจะดำเนินการจับกุมหลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน แต่ไม่ถึงวันที่ 5 ธันวาคม เป็นช่วงวันสำคัญ ขณะเดียวกัน ยังมั่นใจว่า ธัมมชโย ยังคงกบดานอยู่ในวัดพระธรรมกาย ซึ่งหากไม่ยอมมอบตัวก็ต้องบุกเข้าไปจับกุมไม่มีทางเลือกอื่น หากต้องการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จะมาอ้างความเชื่อส่วนบุคคลประเภทที่ว่า “เราเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของหลวงพ่อ” อะไรแบบนี้ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะหากจะพิสูจน์ความจริง ความบริสุทธิ์ว่าจริงหรือไม่ก็ต้องโน่นเลยไปพิสูจน์กันใน “ศาลยุติธรรม” เท่านั้น เพราะไม่เช่นหากยังปล่อยให้อ้างกันอยู่แบบนี้ต่อไปในอนาคตก็จะมีผู้ต้องหารายอื่นแอบอ้างได้บ้างตัวเองบริสุทธิ์แล้วก็ไม่ต้องถูกจับกุมอย่างนั้นหรือ
ขณะเดียวกัน เกิดมีคำถามตามมาว่าหากผู้ต้องหาไม่ยอมมอบตัวแล้วบุกเข้าจับกุมจะเกิดเหตุวุ่นวายอะไรหรือไม่ เพราะอาจมีการใช้กำแพงมนุษย์มาขัดขวางผู้ต้องหาอาจเกิดการปะทะกันขึ้นมานั่น เชื่อว่าหากมีการจับกุมจริงเจ้าหน้าที่คงต้องมีการวางแผนหามาตรการอย่างดี แต่หากมีการขัดขวางก็ต้องจับกุมคนขวาง เพราะถือว่าจงใจขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่
อีกทั้งคำถามที่ว่าจะเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็คงไม่เกี่ยวกัน เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หากทำผิดหรือถูกกล่าวหา หรือถูกดำเนินคดีก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เป็นความผิดส่วนบุคคล และอันที่จริงไม่ยังไม่ถือว่าผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน แต่ก็ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการเท่านั้น
แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามตามมาอีกว่าผู้ต้องหารายนี้ยังกบดานอยู่ภายในวัดพระธรรมกายอยู่หรือไม่หรือว่าหลบหนีออกไปแล้ว ดังนั้น ไม่ว่ายังอยู่หรือหลบหนีก็ต้องพิสูจน์ให้ชัดหลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน ไม่มีทางเลือกอื่น แต่หากหลบหนีออกไปแล้วมันก็มีคำถามใหม่ และมีเรื่องยุ่งใหม่ขึ้นมาอีก ว่า เจ้าหน้าที่ปล่อยให้หนีไปได้อย่างไร ก็ไหนว่าอาพาธปางตาย !!