MGR Online - “ยิ่งลักษณ์” อดีตนายกรัฐมนตรี เผยจะใช้ทุกสิทธิค้านคำสั่งชดใช้จำนำข้าว อุบเรื่องฟ้องกลับ ไม่สนถูกวิจารณ์อีเวนต์การเมืองช่วยซื้อข้าวชาวนา
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงศาลเพื่อร่วมฟังการไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 6 คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ เป็นจำเลย ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ กรณีไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งวันนี้ฝ่ายจำเลยเตรียมพยานให้ศาลไต่สวน 2 ปาก คือ นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีต รมช.คลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดยวันนี้ยังคงมีมวลชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งก่อนเข้าไต่สวนพยาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวถึงการคัดค้านคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวคืนแก่รัฐ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 20 ของความเสียหายทั้งหมด ว่าได้ยื่นคำให้เพิกถอนคำสั่งแล้ว ยังไม่ได้ให้การตอบรับต่อคำสั่ง ยืนยันว่าจะขอใช้ทุกสิทธิทุกขั้นตอนที่เรามีภายใต้กรอบเวลาของกฎหมาย และหากมีอะไรเพิ่มเติมก็จะเป็นหน้าที่ของทนายความกับฝ่ายกฎหมายที่ศึกษาอยู่ ดังนั้นถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะแจ้งให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนทราบอีกครั้ง
เมื่อถามว่ามีข่าวจะฟ้องคดีกลับด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์อดีตนายกฯ กล่าวย้ำว่า จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาลระบุว่ามีการตรวจสอบเรียกร้องค่าเสียหายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องโครงการจำนำข้าวอีกร้อยละ 80 น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อยากจะขอว่าในฐานะของรัฐที่จะมาตรวจตรงนี้ขอให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกคน และทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย
“อย่าเร่งรัด การมองหว่านแหแบบนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นผลดีหรือไม่ หรือจะกลายเป็นผลกระทบโดยกว้างมากกว่า”
นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงความพยายามในการช่วยเหลือชาวนาด้วยซึ่งถูกมองเป็นอีเวนต์การเมืองด้วยว่า เราทำ เรารู้ เราคงห้ามไม่ได้กับผู้ที่จะมอง แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ควรจะมองว่าใครกันที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องชาวนา เราก็ควรช่วยกันมากกว่าที่จะมาตีกันเป็นประเด็นการเมือง เรามาช่วยชาวนากันดีกว่า อย่ามาเถียงหรือตีกันหน้าสื่อเลย
เมื่อถามถึง แนวคิดเสนอแก้กฎหมายว่าควรเพิ่มโทษจะเอาผิดต่อนักการเมืองถึงขั้นประหารชีวิต น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่มีข้อคิดเห็น แต่อยากจะเรียนว่าผู้ที่คิดกฎกติกาควรจะคิดกฎกติกาที่จะทำให้ระบบทุกอย่างเดินไปได้
โดยก่อนจะเริ่มไต่สวนพยาน องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในสำนวนคดีรับจำนำข้าว ได้ชี้แจงว่า อัยการโจทก์ ได้ยื่นคำร้อง ระบุว่าเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ขณะกำลังจะออกจากห้องพิจารณา มีบุคคลชาย-หญิงที่เข้ามาร่วมฟังการพิจารณาคดี แสดงพฤติกรรมลักษณะข่มขู่โจทก์ด้วยการจ้องหน้าด้วยความเครียดแค้น จนทำให้เกิดความหวาดกลัวกดดันในการทำคดีนี้ ดังนั้นศาลจึงจะออกข้อกำหนดเตือนผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาและบริเวณโดยรอบศาล ห้ามแสดงพฤติกรรมข่มขู่โจทก์ - จำเลย และพยานในลักษณะที่เกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินของโจทก์ - จำเลย และพยาน รวมทั้งห้ามพกพาอาวุธ หรืิอถ่ายภาพในห้องพิจารณา และกระทำการใดอันเป็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งจะติดประกาศข้อกำหนดนี้ไว้ที่หน้าอาคารศาล โดยให้ทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล
ส่วนบุคคลที่โจทก์อ้างถึงและได้มีภาพถ่ายยืนยันต่อศาลแล้ว ศาลจะออกหมายเรียกมาไต่สวนในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดยองค์คณะ กล่าวกับคู่ความทั้งสองฝ่ายอีกว่า หากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจริง ถือว่าอาจทำให้คดีนี้เกิดความไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
จากนั้น ทนายความจำเลยได้นำ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีต รมช.คลัง และอดีตประธานกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เข้าไต่สวนก่อนสรุปว่า หลังจากโครงการรับจำนำข้าวผ่านความเห็นจาก กกต.แล้ว กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจึงศึกษาราคารับจำนำตามความเหมาะสมก่อนกำหนดเป็นราคารับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนที่มีจำนวนกว่า 90 % ทั่วประเทศ แต่ยอมรับว่ายังมีเกษตรกรรายใหญ่ที่ได้รับประโยชน์โครงการด้วยแต่มีจำนวนน้อยกว่า
นายทนุศักดิ์ ยังตอบการถามค้านของอัยการโจทก์ด้วยว่า ที่พยานได้เป็น ประธาน ธกส.นั้น รมว.คลัง ใช้อำนาจแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ธนาคารเพื่ิอการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2509 มาตรา 18 และ 21 วรรคหนึ่ง โดย ธกส.เป็นหน่วยงานหลักในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งนอกจากทำหน้าที่จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว ยังส่งผู้แทนร่วมประชุมใน กขช.และร่วมในคณะอนุกรรมการระบายข้าว โดยเมื่อได้เงินจากการขายข้าวแล้ว ธกส.จะพิจารณาตามที่ได้รับมอบหมายจาก ครม.ในการชำระหนี้ซึ่งจะพิจารณาจาก รอบเงินกู้ที่ต้องชำระก่อน โดยทุกอย่างทำตามกฎหมายสามารถตรวจพิสูจน์ได้
นายทนุศักดิ์ พยานจำเลย ยังกล่าวถึงกรอบวงเงินโครงการ 5 แสนบ้านบาทด้วยว่า แม้เงินกู้ที่นำมาใช้รับจำนำข้าวแต่ละฤดูกาล อาจจะมีจำนวนสูง แต่ยอดเงินรวมบัญชีในโครงการที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 5 ฤดูกาลนั้นไม่ได้ใช้เกินกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่กำหนดไว้ ขณะที่การขายข้าวก็กำหนดราคาตามกลไกตลาด ไม่ได้ตั้งจากราคาทุนที่รับจำนำ
ทั้งนี้ นายทนุศักดิ์ พยานจำเลย ได้เบิกความตั้งข้อสังเกตถึงหนี้ค้างชำระด้วยว่า ณ วันที่ 18 ก.ย.57 มียอดหนี้ 4.1 แสนล้านบาท แต่เมื่อผ่านมา 10 กว่าวันโดยวันที่ 30 ก.ย.57 ทำไมมียอดสูงถึง 6.74 แสนล้านบาท
นายทนุศักดิ์ ยังเบิกความปฏิเสธว่า หลังจากที่ ธกส.จ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้ชาวนาแล้ว ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีโรงสีไปเรียกเก็บเงินจากชาวนาอีก พร้อมยืนยันว่าการสวมสิทธิ์ชาวนานั้นทำได้ยากเพราะมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ และการจ่ายเงินของ ธกส.ก็จ่ายตามใบประทวน
นอกจากนี้นายทนุศักดิ์ พยานจำเลย ตอบการซักถามขององค์คณะผู้พิพากษาฯ ในประเด็นการนำเงินระบายข้าวมาใช้ในโครงจำนำข้าวด้วยว่า การนำเงินมาใช้นั้นเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ต.ค.55 ตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำงาน ซึ่งพยานเข้าใจว่าสำนักงบประมาณคงคิดแล้วว่าครม.จะใช้อำนาจอะไร เพื่อนำเงินจากการระบายข้าวไปชำระเงินกู้ก่อน จึงจะกู้ใหม่ได้ และก่อนนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจจะมีการหารือกันก่อน แต่พยานเป็น รมช.คลังครั้งแรก จึงไม่ทราบว่าเคยมีการใช้เงินแบบนี้มาก่อนหรือไม่
ภายหลังไต่สวน นายทนุศักดิ์ พยานจำเลย เสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งต่อใปวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เวลา 09.30 น.
ส่วนนายอำพน กิตติอำพน พยานจำเลยอีกปากทีี่เตรียมจะไต่สวนวันนี้ ปรากฏว่า มีอาการป่วยจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และมีเลืิอดออกหลังการผ่าตัดทำบอลลูนหัวใจ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยขอให้ยุติการทำภารกิจต่างๆ ไว้ก่อน ศาลจึงให้เลื่อนไต่สวนพยานปากนี้ก่อน โดยให้ทนายความบริหารบัญชีพยานจำเลยใหม่และส่งให้พิจารณาภายใน 15 วัน ขณะที่ศาลกำชับให้ทนายความ ประสานพยานที่จะมาไต่สวน หากมีเหตุขัดข้องให้นำพยานปากอื่นมาไต่สวนแทน