เมืองไทย 360 องศา
เมื่อเป็นแบบนี้มันก็มาถึงคำถามเปรียบเทียบแบบตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่าเงินตัวเอง หรือเงินของพวกตัวเอง กับเงินของชาวบ้าน นี่มันต่างกันสุดกู่หรือเปล่า เพราะหากบอกว่าใช้เงินช่วยซื้อข้าวชาวนาในราคากิโลกรัมละ 20 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าตลาดเพียงน้อยนิด แถมยังถูกหาว่าทุบตลาดลงไปอีก แต่ทำไมเวลาใช้เงิน “งบประมาณ” ซึ่งเปรียบเหมือนกับเงินของชาวบ้านมารับซื้อข้าวทุกเมล็ด (จำนำข้าว) ถึงใช้แบบไม่อั้น แบบไม่ต้องสนใจเรื่องขาดทุน มันจึงเป็นคำถามคาใจขึ้นมาอีก
นึกว่าจะค่อยๆ หายเงียบกันไปสำหรับงานอีเวนต์ขายข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อคราวก่อน และถูกวิจารณ์ทำนองว่า เป็นการซ้ำเติมชาวนา เนื่องจากข้าวที่เธอซื้อจากชาวนาในราคากิโลกรัมละ 20 บาทนั้น ต่ำเกินไป เพราะในเวลานั้นชาวนาขายข้าวในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 25-35 บาทอยู่แล้ว ดังนั้น การขายในราคาดังกล่าวนอกจากทำให้ขาดทุน และยังไม่ช่วยในการดึงราคาในตลาดให้เพิ่มสูงขึ้นมาแต่อย่างใด ตรงกันข้ามน่าจะเป็นการ “ทุบชาวนา” ให้จมลงไปอีก
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเธอก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารตอบโต้ออกมา โดยยืนยันในทำนองว่าราคาที่เธอรับซื้อข้าวจากชาวนา และขายให้กับผู้บริโภคในราคากิโลกรัมละ 20 บาทนั้น ชาวนาได้กำไร ขณะที่ขายต่อให้ผู้ซื้อได้ในราคาไม่สูง เพราะต้องรับภาระในเรื่องต้นทุนในการเป็นคนกลางในการกระจายข้าวออกไป รวมทั้งค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าคัดข้าวสารพัด ซึ่งเธอได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ว่า
“ดีใจและภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มช่วยชาวนาขายข้าว 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการช่วยให้ชาวนามีทางเลือก หากไม่ได้รับราคาที่เป็นธรรม และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ชาวนาสามารถขายข้าวเองได้โดยตรง ก็จะทำให้คุ้มกับต้นทุน หรือเหลือกำไรบ้าง ซึ่งตนไม่เคยคิดที่จะกดราคา หรือเอาเปรียบชาวนา ตามที่มีใครพยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด ตนซื้อข้าวเปลือกในราคา 12 บาท หรือ ข้าวสาร 20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ชาวนามีกำไร และพออยู่ได้ ลดต้นทุนด้วยการไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามขายข้าวตามสภาพ และรับผิดชอบขนส่ง ซึ่งหากดิฉันคิดเอากำไร หรือผลักภาระส่วนนี้ไปยังผู้ซื้อ ก็ต้องขายด้วยราคา 25 บาท แต่ตนไม่ต้องการเช่นนั้น เพื่อให้ผู้ซื้อได้ซื้อข้าวราคาเดียวกับที่ชาวนาขายที่ต่างจังหวัด”
“การช่วยกันคนละไม้ละมือในยามที่ชาวนาเดือดร้อน ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนพึงกระทำ แม้ปัจจุบันดิฉันไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็ช่วยในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่พอสามารถช่วยเหลือกันได้ แต่กลับถูกตีเจตนาเป็นอย่างอื่น นับเป็นสิ่งที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง แทนที่จะตั้งคำถามว่าแม้ข้าวราคาถูกแค่ไหน เหตุใดราคาขายไปยังผู้บริโภคยังคงเป็นราคาเดิม ทำไมไม่เอากำไรส่วนนี้คืนให้กับชาวนา หรือผู้ซื้อบ้าง กลับมาช่วยกันซ้ำเติมและใช้หลักโทษคนนั้นโทษคนนี้ แล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร”
“การขายข้าวครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยชาวนาขาย โดยไม่ผ่านคนกลาง ข้าวส่งตรงถึงมือผู้ซื้อ ซึ่งการซื้อโดยตรงนี้ ทำให้ลดต้นทุนในส่วนของคนกลาง และต้นทุนในแต่ละขั้นตอน เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ การคัดข้าว วิธีที่ดำเนินการเช่นนี้ ทำให้ชาวนาสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาสูงขึ้น มีกำไรและไม่ถูกกดราคา ส่วนผู้ซื้อก็สามารถซื้อข้าวได้ในราคาที่ถูกลง เพราะไม่มีการผลักภาระของคนกลางไปให้ผู้ซื้อ ก็จะเห็นได้จากหลายพื้นที่ที่ชาวนาเริ่มที่จะสีข้าว ขายเองแล้ว เชื่อว่า ในที่สุดกลไกนี้ก็จะค่อยๆ ปรับตัว ทั้งคนขาย ผู้ประกอบการ และผู้ซื้อมากขึ้น จึงเป็นที่น่าดีใจนอกเหนือจากการช่วยชาวนาขายข้าว”
“ดังนั้น เพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น เราก็น่าจะร่วมกันสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนบริโภคข้าวมากขึ้น ด้วยการช่วยกันคิดหาวิธีแปรรูป หรือทำอาหารเกี่ยวกับข้าว เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายเป็นทางเลือกในการบริโภค ซึ่งจะทำให้การบริโภคข้าวที่ปัจจุบันมีอยู่เกือบ 10 ล้านตันนั้นเพิ่มขึ้น แค่นี้เราก็ถือว่าได้ช่วยชาวนาแล้วค่ะ จึงถือโอกาสเอามาแชร์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและช่วยกันแนะนำด้วยนะคะ”
ก่อนหน้านี้มีเสียงวิจารณ์ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างรุนแรงไม่น้อยในกรณีการออกไปรับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาโดยครั้งแรกเกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และถัดมาก็มีการโปรโมตการขายข้าวสารที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านสำโรง ซึ่งเป็นกลุ่มทุนผู้สนับสนุน ซึ่งเธอดีใจมากที่สามารถขายข้าวได้หมด 30 ตัน ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็เกิดคำถามดังกล่าวตามมาว่าเธอช่วยชาวนา หรือไป “ทุบชาวนา” กันแน่ เพราะราคาซื้อขายดังกล่าวนั้นมันต่ำกว่าราคาในท้องตลาดอย่างแน่นอน แน่นอนว่า ในราคาขายข้าวสารกิโลกรัมละ 20 บาท ผู้บริโภคย่อมพอใจ เพราะซื้อได้ในราคาถูกเกิดคาด แต่คำถามก็คือเวลานี้เจตนาเรามีเจตนา “ช่วยเหลือชาวนาก่อน” อย่างเร่งด่วนไม่ใช่หรือ ทุกคนมีเจตนาช่วยกันทุกทางให้ชาวนาได้ขายข้าวในราคาที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีการเปิดทุกช่องทางช่วยกันคนละไม้ละมือให้ชาวนาขายได้ราคาสูงที่สุด ซึ่งรับรองว่าไม่มีใครขายในราคากิโลกรัมละ 20 บาทแบบที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รณรงค์ขายข้าวอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี หากมองในมุมบวกแบบที่เธออ้างก็คงไม่ต้องถือสา แต่หากมองในช่วงจังหวะเวลามันก็ไม่อาจมองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากว่ามีเจตนาทางการเมือง เป้าหมายเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่า ล้มเหลวในการแก้ปัญหาราคาข้าว ไม่ดูแลชาวนา อีกทั้งยังกระทบชิ่งเปรียบเทียบโครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาลของเธอ ในทำนองว่า ชาวนามีรายได้ดีกว่าเห็นๆ อะไรประมาณนั้น แต่ก็อย่างว่าบางทีคนคำนวณอาจไม่สู้ฟ้าลิขิต เมื่ออีเวนต์การขายข้าวของเธอถูกกลืนไปกับกระแสช่วยชาวนาของมหาชนที่ช่วยกันคนละไม้ละมือ มิหนำซ้ำ ยังมาเจอย้อนศรซื้อข้าวราคาถูกทุบราคาชาวนาซ้ำเข้าไปอีก ถึงกับมึนไปเหมือนกัน
เมื่อเป็นแบบนี้มันก็มาถึงคำถามเปรียบเทียบแบบตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่าเงินตัวเอง หรือเงินของพวกตัวเอง กับเงินของชาวบ้านนี่มันต่างกันสุดกู่หรือเปล่า เพราะหากบอกว่าใช้เงินช่วยซื้อข้าวชาวนาในราคากิโลกรัมละ 20 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าตลาดเพียงน้อยนิด แถมยังถูกหาว่าทุบตลาดลงไปอีก แต่ทำไมเวลาใช้เงิน “งบประมาณ” ซึ่งเปรียบเหมือนกับเงินของชาวบ้านมารับซื้อข้าวทุกเมล็ด (จำนำข้าว) ถึงใช้แบบไม่อั้น แบบไม่ต้องสนใจเรื่องขาดทุน มันจึงเป็นคำถามคาใจขึ้นมาอีก
ดังนั้น ไม่ว่าเจตนาในการขายข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นแบบไหนก็ตาม แต่งานนี้ถือว่าไม่สำเร็จ มีจุดอ่อนให้วิจารณ์ตามมามากมาย โดยเฉพาะกับคำถามใหม่ที่ว่าทำไมทีเงินส่วนตัวถึงได้เค้นออกมายากนัก แต่ทีเงินคนอื่นใช้เอาๆ หรือเปล่า!