xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยธนำคณะผู้บริหาร ศึกษารูปแบบการแก้ปัญหายาเสพติดโดยใช้สาธารณสุขนำ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนำคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาวิธีการ รูปแบบการจัดการปัญหายาเสพติดของประเทศต้นแบบที่ดำเนินนโยบายยาเสพติดโดยใช้สาธารณสุขนำ

วันนี้ (13พ.ย.) เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (วันที่ 1- 7 พฤศจิกายน 2559) พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พลเอก นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) และผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศไทย ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานศาลอุทธรณ์ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศึกษาวิธีการ รูปแบบการจัดการปัญหายาเสพติด ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐโปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบในการดำเนินนโยบายยาเสพติดโดยใช้แนวทางสาธารณสุขนำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศมีความเข้าใจแนวคิดในการกำหนดนโยบายแนวทางการปฏิบัติ โครงสร้าง ระบบงาน และการดำเนินนโยบายยาเสพติดตามหลักการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้แนวทางสาธารณสุขอย่างชัดเจน เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อปฏิรูปนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาหลายประเทศมองเห็นว่าปัญหายาเสพติดของโลกไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามกลับรุนแรงมากขึ้น และไปเชื่อมต่อกับปัญหาอื่นมากขึ้นไปอีก เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาเอดส์ ปัญหาสาธารณสุข ฯลฯ จึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด จนกระทั่งมีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (United Nations General Assembly Special Session 2016 - UNGASS 2016) จึงได้มีมุมมองใหม่ต่อปัญหายาเสพติดว่าแท้จริงแล้วปัญหายาเสพติด เป็นเรื่องของสุขภาพ เรื่องของระบบสาธารณสุข เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของความยากจน เรื่องของการพัฒนา ฯลฯ ดังนั้น นโยบายใหม่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงให้ความสำคัญและมองผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการรักษา อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อปรับนโยบายยาเสพติดประเทศไทย โดยขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศที่เป็นต้นแบบในการปฏิรูปนโยบายด้านยาเสพติด และได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐโปรตุเกส โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดการกำหนดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติ โครงสร้าง ระบบงาน และการดำเนินนโยบายยาเสพติดของทั้งสองประเทศ

โดยในส่วนของการศึกษาวิธีการ รูปแบบการจัดการปัญหายาเสพติด ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะได้ไปศึกษารูปแบบการให้บริการแนวทางการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ณ คลินิกในเมืองไลพ์ซิก ที่โดดเด่นในการลดอันตรายจากการใช้เมทแอมเฟตามีน ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัญหายาเสพติดของไทย และรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบโครงสร้างการแก้ไขปัญหายาเสพติด องค์ความรู้ในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ คณะได้รับฟังการบรรยายสรุปจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและสภาการสาธารณสุขแห่งกรุงเบอร์ลิน (The Senate of Health of Berlin) เพื่อศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ กฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งด้านการป้องกัน การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด การบำบัดรักษา การดำเนินคดียาเสพติด รวมถึงโครงการสำคัญของกรุงเบอร์ลินที่ให้บริการในลักษณะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อย่างทั่วถึง

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและคณะ ได้เข้าพบและหารือข้อราชการกับ H.E. Mrs. Marlene Mortler ผู้บัญชาการงานยาเสพติดของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (ตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีช่วยว่าการ) เพื่อขอบคุณที่ได้จัดการศึกษาดูงานนโยบายยาเสพติดในครั้งนี้ รวมทั้งขอบคุณที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศเยอรมันได้ให้ความร่วมมือที่ดีกับรัฐบาลไทยด้านการพัฒนาทางเลือกพร้อมทั้งได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในระยะต่อไป โดยเยอรมันยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนานโยบายให้กับไทย และยินดีสนับสนุนกิจกรรมตามโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัยด้วย

ในส่วนของสาธารณรัฐโปรตุเกส คณะผู้แทนไทยได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization) อันเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ โดย พลเอก นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เป็นหัวหน้าคณะไปศึกษาการดำเนินงาน ณ เรือนจำโปรตุเกส เพื่อรับทราบแนวทางการบริการสาธารณสุขในเรือนจำ และรับฟังกฎหมายยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมายโดยผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติโปรตุเกส เพื่อสร้างความเข้าใจกรอบการใช้กฎหมายในลักษณะการลดทอนความผิดทางอาญาให้กับผู้เสพ และผู้ค้ารายย่อย ตลอดจนเข้าศึกษาวิธีการ รูปแบบการจัดการปัญหายาเสพติดของคณะกรรมการกลางเพื่อการควบคุมพฤติกรรมและการใช้ยาเสพติด เพื่อทำความเข้าใจแนวปฏิบัติของคณะกรรมการยับยั้งการใช้ยาโดยมิชอบ ในการลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization) เพื่อนำมาศึกษาและปรับใช้กับการดำเนินนโยบายยาเสพติดของไทย โดยยึดหลักการพิจารณาใช้แนวทางสาธารณสุขเป็นหลัก หรือการใช้มาตรการทางการปกครอง อาทิ การปรับ การรายงานตัวเป็นระยะ การบำเพ็ญประโยชน์ หรือการตักเตือน ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้ถือโอกาสนี้ เดินทางไป ณ ศูนย์เฝ้าระวังด้านการยาเสพติดและการเสพยาเสพติดแห่งสหภาพยุโรป เพื่อศึกษาระบบการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศโปรตุเกส

โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ คณะผู้แทนจะร่วมกันยกร่างตัวแบบ (Model) นโยบายยาเสพติดของประเทศไทยขึ้น โดยบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ไขปัญหาในทุกมิติอย่างครอบคลุม โดยมีสำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของประเทศเป็นแกนกลางในการดำเนินงาน ด้วยเป้าหมายให้ประเทศไทย มีนโยบายยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงต้องครอบคลุมและจัดความสมดุลในเรื่องเหล่านี้ให้ได้อย่างเหมาะสม การปรับนโยบายยาเสพติดจึงไม่ได้เป็นการรับรองการใช้ หรือ ทำให้ตัวยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่เป็นการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เหมาะสมกับประเภท และความรุนแรงที่ควรจะเป็นมากกว่า และยังคงมีบทลงโทษทางกฎหมายต่อนักค้ายาเสพติดเช่นเดิม








กำลังโหลดความคิดเห็น