xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาสั่ง “ท่านมุ้ย” ล้มละลาย จากเงินกู้แบงก์ศรีนคร 7 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาสั่งให้ “ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” เป็นบุคคลล้มละลาย เริ่มจากการเป็นหนี้ธนาคารศรีนครด้วยเงินต้น 7 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชำระคืนได้จนถูกฟ้องเมื่อปี 39 ก่อนเปลี่ยนเจ้าหนี้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ ยอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 22 ล้านบาท ถือว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว แม้จะมีธุรกิจสร้างภาพยนตร์แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะมีรายได้เข้ามาเมื่อใด

จากกรณีที่มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา เรื่องศาลล้มละลายกลางได้มีพิพากษา เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559 ให้ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย อายุ 74 ปี ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ลูกหนี้ เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว และศาลได้กําหนดนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ณ ศาลล้มละลายกลาง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 ก.ค. 2559 เวลา 09.30 น. เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้ว มีสิทธิไปฟังการไต่สวนและซักถามลูกหนี้ที่ศาลได้ หรือจะมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปแทนก็ได้นั้น

วันนี้ (19 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รายงานถึงรายละเอียดคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีหมายเลขแดง 1392/2554 ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย เรื่องล้มละลาย สรุปว่า คดีนี้บริษัทโจทก์ยื่นฟ้องว่าเดิมจำเลยเป็นหนี้ธนาคาร ศรีนคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,096,068.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปีของเงินต้น 7 ล้านบาท ตามมูลหนี้ในคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในคดีหมายเลขแดง 21264/ 2539 ซึ่งจำเลยตกลงชำระเงินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีกับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้เดิม โดยหากผิดนัดยอมให้ยึดทรัพย์ จำนอง ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดด้วย ซึ่งหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เดิมได้นำเจ้าพนักงานเจ้าบังคับคดียึดทรัพย์ จำนอง ออกขายทอดตลาดได้เงิน 3,070,000 บาท ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย. 2544 ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องเรื่องนี้ให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด แล้ว เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2547 บริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัดได้โอนกิจการและสิทธิเรียกร้องทั้งหมดให้แก่บริษัทโจทก์ โดยคำนวณถึงวันฟ้อง จำเลยจะมีหนี้ค้างชำระต่อโจทก์รวม 22,032,463.32 บาทซึ่งจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์จึงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

โดยจำเลยให้การว่า การโอนหนี้ระหว่างบริษัทโจทก์กับบริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ไม่ชอบเนื่องจากการบังคับคดีตามคำพิพากษาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่บริษัทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและจำเลยมีทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอก มีมูลค่ามากกว่าหนี้ของบริษัทโจทก์ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว อีกทั้งจำเลยมีธุรกิจรับสร้างภาพยนตร์มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับบริษัทโจทก์ได้ กรณีจึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย จึงขอให้ยกฟ้อง

ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาวันที่ 27 พ.ย. 2550 พิพากษายกฟ้องบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิทฯ

โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทจำกัด และบริษัทที่ผลิตภาพยนตร์ แต่ทางนำสืบไม่ได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่จำเลยถือหุ้นอยู่นั้นมีกำไรขาดทุนหรือหนี้สินอย่างไร และที่จำเลยอ้างว่าบริษัทที่ผลิตภาพยนตร์นั้นมีสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างผลิตภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 ยุทธหัตถี ค่าจ้างรวม 270 ล้านบาทนั้นเห็นว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างบริษัทผลิตภาพยนตร์ กับบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งบริษัทผลิตภาพยนตร์ถือเป็นนิติบุคคลต่างหากต่างจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโดยบริษัทย่อมมีเจ้าหนี้และลูกหนี้ของตัวเอง ดังนั้น สิทธิที่จะเรียกร้องตามสัญญาจ้างสร้างภาพยนตร์ย่อมเป็นสิทธิของบริษัท ไม่ใช่สิทธิของจำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างผลิตภาพยนตร์ระหว่างจำเลย กับนายสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือเสี่ยเจียง จำนวน 30 ล้านบาท ตามสัญญาว่าจ้างผลิตภาพยนตร์นั้นเห็นว่า ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยจะได้รับเงินเมื่อดำเนินการครบถ้วนตามสัญญาแล้ว

แต่ปรากฏว่า งานที่จำเลยได้ทำไปแล้วนั้นเป็นเพียงการค้นคว้าของมูลทางประวัติศาสตร์ เขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าจำนวนเงินดังกล่าวผู้ว่าจ้างจะต้องชำระหนี้ให้กับจำเลยอีกเพียงใด เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างที่จำเลยเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2539 แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้กระทั่งเจ้าหนี้เดิมนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ จำนองออกขายทอดตลาด ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และหลังจากที่ได้มีการโอนหนี้ต่อมากระทั่งบริษัทโจทก์ เป็นผู้รับโอนจำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้ในส่วนที่ขาดหรือติดต่อขอประนอมหนี้แต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์บริษัทโจทก์ฟังขึ้น จึงพิพากษากลับให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14


กำลังโหลดความคิดเห็น