xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” ระบุ “ชนม์สวัสดิ์” เข้าข่ายพักโทษ จ่อชง ครม.ปล่อยกลุ่มแรก 7,780 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รมว.ยุติธรรมเผยเตรียมปล่อยนักโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษกลุ่มแรก 7,780 คน ก่อนชง ครม.พิจารณา 23 ส.ค.นี้ ตั้ง 6 กระทรวงร่วมดูแลไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ สร้างความเชื่อมั่นให้สังคม ส่วน “เอ๋-ชนม์สวัสดิ์” จัดอยู่ในกลุ่มได้พักโทษ

วันนี้ (19 ส.ค.) เวลา 11.00 น. ที่ชั้น 9 ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหารือแผนรับรองการปล่อยตัวผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม “พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2559” เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ และโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และตัวแทนจาก กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วม

พล.อ.ไพบูลย์เปิดเผยหลังการประชุมว่า ทางกรมราชทัณฑ์ได้รายงานว่าในปีนี้มีผู้ต้องขังประมาณ 200,000 รายจะได้รับการลดวันลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวในกรณีพิเศษ โดยกลุ่มแรกเป็นเยาวชน ผู้พิการ ป่วยเรื้อรัง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต และคดีเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับสตรี ซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ประมาณ 7,780 ราย ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ได้รับการลดวันลงโทษทั้งระบบ โดยแยกเป็นส่วน คือ (1. เมื่อได้ลดวันลงโทษแล้วทำให้โทษที่เหลืออยู่น้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่ง ก็ปล่อยตัวพ้นเรือนจำไป (2. ลดวันลงโทษแล้วเป็นกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์การพักโทษ ก็จะเข้าคณะกรรมการการพักโทษอีกครั้งหนึ่ง และ (3. ลดวันลงโทษแล้ว แต่ยังต้องจำคุกต่อไป เพราะยังมีโทษเหลืออยู่ และไม่เข้าเกณฑ์การพักโทษ ทั้งนี้ การพักโทษผู้ต้องขังได้ดำเนินการมาโดยตลอดไม่ได้มีเฉพาะที่มีการพระราชกฤษฎีกา และที่ผ่านมาก็เคยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบ้างแล้ว

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า สำหรับข้อสรุปที่ได้จากการหารือร่วมกันในวันนี้จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ก่อนจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระบบการทำงานแบบบูรณาการแบ่งหน้าที่กันไป โดย กระทรวงยุติธรรม เป็นศูนย์กลาง แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับส่วนกลาง กรมราชทัณฑ์จะเป็นศูนย์ประสานงานของกระทรวงต่างๆ และระดับภูมิภาค จะเสนอขอมติ ครม.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการดูแล ตามแนวคิดริเริ่มของกระทรวงมหาดไทยเสนอมาแล้วรายงานมาที่กระทรวงยุติธรรมในการติดตามและสายงานของตัวเอง จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลมีความห่วงใย

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ได้แบ่งกันเป็นระบบอยู่แล้ว เช่น พม.ดูแลเรื่องเบี้ยสงเคราห์ต่างๆ ส่วน มท.ดูเกี่ยวกับเรื่องบัตรประชาชน หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ สธ.ก็ดูเรื่องการควบคุมโรค สุขภาพจิตต่างๆ กระทรวงแรงงานดำเนินการด้านฝึกอาชีพ เป็นต้น ส่วนกรณีที่ประชาชนห่วงใยว่ากลุ่มคนเหล่านี้เมื่อได้รับอภัยโทษแล้วจะเป็นอันตราย หรือภาระต่อสังคมหรือไม่นั้น ยอมรับว่าส่วนราชการก็มีความห่วงใยเช่นเดียวกัน แต่เราต้องมองในแง่บวก คือการให้โอกาสชีวิตกับสังคม เพราะยังมีครอบครัวของพวกเขารอความหวังอยู่ แต่จะยังอยู่ในสายตาของ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ต้องขังที่ที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ จะเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ถ้าเขาได้รับสิทธิก็ต้องได้ คิดว่าคงได้รับ ซึ่งนายชนม์สวัสดิ์จะอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือมีสิทธิได้รับการลดโทษ แต่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพักโทษก่อน ซึ่งโทษของนายชนม์สวัสดิ์เหลืออยู่ประมาณ 1 เดือนเศษ แต่จนถึงขณะนี้คงไม่เหลือแล้ว เพราะกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นถือว่าลดโทษได้ แต่จะได้รับการพักโทษหรือไม่ต้องอยู่ที่คณะกรรมการฯ แล้วขึ้นมาที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้กลั่นกรองอีกครั้ง

“ส่วนคดีข่มขืนถือเป็นเรื่องร้ายแรง สร้างบาดแผลให้สังคม ยืนยันว่าเราไม่ให้อยู่แล้ว ไม่ได้เสนอเป็นมาตรการพระราชทานอภัยโทษ ขอให้มั่นใจ แต่ถ้าไม่ร้ายแรง เช่น ผัวข่มขืนเมีย ที่เป็นลหุโทษ มีการอ่านคำพิพากษาแล้วก็ควรให้โอกาสเขา อย่าไปเหมารวมว่าข่มขืนต้องไม่ให้อย่างเดียว” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

เมื่อถามว่าจะดำเนินการปล่อยตัวผู้ต้องขังกลุ่มแรกได้เมื่อไหร่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า หลังจากมีมติจากที่ประชุม ครม.แล้วเราก็จะดำเนินการทันที โดยจะทยอยปล่อยเป็นระลอก ซึ่งผู้เข้าเกณฑ์เฉพาะในกลุ่มจำนวน 7,780 ราย เนื่องจากเราปล่อยตัวไปแล้ว 3,000 กว่าราย เพราะกฎหมายมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือจะปล่อยทั้งหมดทันทีหลังมีมติ ครม. สำหรับกรณีที่นักโทษถูกปล่อยตัวออกไปแล้ว แต่กลับไปกระทำผิดซ้ำนั้น กฎหมายระบุชัดเจนถ้าจับกุมได้ฟ้องใหม่จะมีการเพิ่มโทษ ไม่มีพักการลงโทษ ไม่มีลดโทษ และชั้นความประพฤติจะอยู่ในขั้นเลวมาก

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น