xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” เผยมีนักโทษ 2 แสนรายได้รับสิทธิ์พิจารณาอภัยโทษ เว้นคดีข่มขืน ยาเสพติดและทุจริต

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ มีผู้ต้องขัง ประมาณ 2 แสนราย จากเรือนจำ 143 แห่ง ทั่วประเทศ ได้รับสิทธิ์อภัยโทษตาม เกณฑ์ พ.ร.ฎ. ฉบับปี 59 ส่วนคดีทุจริต ข่มขืน และยาเสพติด หมดสิทธิ์
 
จากกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ 2559 มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิ.ย. ๒๕๕๙ และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ ส.ค. ๒๕๕๙ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.59 และภายใน 120 วัน ให้แต่ละเรือนจำทั่วประเทศคัดกรองตรวจสอบรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับการอภัยโทษเพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อสังคมนั้น
 
ล่าสุดวันนี้ (10 ส.ค.) เวลา 13.00 น. ที่ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับรายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าหลักเกณฑ์รับอภัยโทษ ซึ่งการอภัยโทษทุกครั้งคือการลดวันลงโทษทำให้โทษที่เหลืออยู่ต้องหมดไปเหมือนกับเป็นการปล่อยตัวเลย และเป็นโทษที่ศาลได้พิพากษาตัดสินมาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ หากผู้ต้องขังได้รับโทษไปแล้วตามเงื่อนไขก็ต้องถูกปล่อยตัวแต่บางคนไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็ต้องเป็นผู้ต้องขังต่อไปและถ้าผู้ต้องขังคนใดอยู่ในเกณฑ์พักโทษก็ต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้น ทางปลัดกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบเห็นตัวเลขคร่าวๆประมาณ 200,000 รายจาก 300,000 รายจากเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่งที่ได้รับสิทธิ แต่จำนวนนักโทษที่ได้รับการอภัยโทษไม่ทราบชัดเจนเพราะต้องลงรายละเอียดเนื่องจากผู้ต้องขังมีเยอะมากและต้องมีการจัดแบ่งกลุ่มให้รอบคอบเสียก่อน รวมทั้ง คาดว่า การปล่อยตัวผู้ต้องขังไม่น่าช้าถ้าใครไม่เข้าเกณฑ์ก็ไม่มีสิทธิ
 
"ส่วนการพักโทษเป็นอีกขั้นหนึ่งต้องมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา นอกจากนี้ ไม่มีการพิจารณาคดี 3 กลุ่ม ได้แก่ คดีข่มขืน คดีทุจริต และ ค้ายาเสพติด โดย คดีข่มขืน มีกระแสสังคมถามว่าทำไมไม่ประหารชีวิตซึ่งกระทรวงยุติธรรมกำลังปรับการลงโทษเพื่อความเหมาะสมแต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน" รมว.ยธ. กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น