MGR Online - ผบก.น.9 สั่งตำรวจจราจรปรับระบบทำงานจากนั่งป้อมเปลี่ยนเป็นนั่งรถตู้ตอนเช้า ศึกษาสภาพปัญหาจราจรในพื้นที่และเข้าใจความรู้สึกผู้ใช้รถที่ติดอยู่บนถนนเป็นเวลานาน แก้ปัญหาวลีเด็ด “มีตำรวจจราจรที่ไหน รถติดที่นั่น” เข้มยึดโทรศัพท์และเครื่องสื่อสารทุกชนิด
วันนี้ (8 ส.ค.) เมื่อเวลา 07.00 น. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบก.น.9 และ พ.ต.อ.วันชัย อยู่แสง รอง ผบก.น.9 เปิด “โครงการสร้างจิตสำนึกเจ้าหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟจราจรนั่งรถตู้ดูงานการควบคุมสัญญาณไฟจราจรและการจัดการจราจร ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน” โดยนำเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟจราจรทุกโรงพักในสังกัด บก.น.9 นั่งรถตู้ไปศึกษาดูงานการควบคุมสัญญาณไฟจราจรและการจัดการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน ตั้งแต่วันที่ 8-15 ส.ค. 2559
พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟ มีวงรอบการใช้ชีวิตที่จำเจเหมือนเดิมทุกวัน คือตื่นเช้าไปเข้าแถว จากนั้นขี่มอเตอร์ไซค์ไปประจำป้อม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ รอเวลาพักกินข้าว รอเวลาไปตั้งด่าน รอพักและออกมาทำหน้าที่ตามป้อมควบคุมสัญญาณไฟอีกครั้งในช่วงเย็น ดังนั้นจึงอาจไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ใช้ยานพาหนะที่ต้องติดอยู่ในรถ จนเป็นที่มาของคำว่า “มีตำรวจจราจรที่ไหน รถติดที่นั่น” ซึ่งข้อเท็จจริงการทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟผู้ปฏิบัติต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์
พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวอีกว่า ไม่ใช่กดระบบออโตเมติกแล้วตัวเองนั่งดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ หรือนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ที่ตู้ควบคุมสัญญาณ จนเป็นที่มาของโครงการนี้คือเราจะนำตำรวจจราจรผู้ทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟนั่งรถตู้ออกจาก บก.น.9 แต่เช้าไปดูสภาพรถติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน โดยทำการยึดโทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเอาไว้ ไม่ให้เล่นไลน์ เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันอื่นๆ แม้กระทั่งตามจับโปเกมอนที่กำลังนิยม ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่ต้องติดคาอยู่ในรถ อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสารวัตรควบคุมไปด้วย
พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวต่ออีกว่า การนั่งรถตู้ไปดูงานในกรุงเทพมหานครชั้นในจะมีการสอดแทรกความรู้ด้านอื่นๆ จากผู้บังคับบัญชาที่นั่งรถไปด้วย เช่น การวางแผนงานจราจร บอกถึงวิธีการควบคุมสัญญาณไฟที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานสากล อาทิ การเปิดสัญญาณไฟจราจรสีแดงต้องไม่ให้เกินฝั่งละ 4 นาที หรือผู้ปฏิบัติควรทำอย่างไรให้รถฝั่งที่ได้รับสัญญาณไฟเขียวผ่านทางร่วมทางแยกให้ได้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังถือเป็นการเดินทางไปศึกษาเรียนรู้สภาพพื้นที่การจราจรของหน่วยข้างเคียง ดูปัญหา อุปสรรค และวิธีการปฏิบัติงานของเพื่อนตำรวจต่างกองบังคับการ
ทั้งนี้เ พื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ศึกษาทำความรู้ความเข้าใจสภาพปัญหาของการจราจรในพื้นที่อื่นๆ นำระบบการวางแผนการจัดการจราจรของเจ้าหน้าที่หน่วยงานข้างเคียงมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน อันจะทำให้การแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของ บก.น.9 ซึ่งอยู่บนถนนสายหลักหลายเส้นทางบริเวณรอบนอกกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีแนวสัมพันธ์กับพื้นที่ข้างเคียงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดร่วมกัน