MGR Online - คณะกรรมการอัยการร่วมพิจารณามีมติยื่นฎีกาคดี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ กับพวกรวม 5 คน ถูกกล่าวหาอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี” อดีตนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย อดีตจเรตำรวจยืนยันไม่กังวลเคารพดุลพินิจของศาล
วันนี้ (27 ก.ค.) เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการยื่นฎีกาคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี อดีตนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาพนักงานอัยการได้ยื่นฎีกาคดีที่อัยการ และ นางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลรูไวลี มารดา เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ กับพวกรวม 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ได้กระทำไว้
ซึ่งในคดีนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด มารดาของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี ได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ จนวันที่ 31 มี.ค. 2557 ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด กับพวกรวม 5 คน ซึ่งหลังจากศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง อธิบดีอัยการศาลสูงได้พิจารณาแล้ว ได้มีคำสั่งยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญา และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน และให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และยกอุทธรณ์โจทก์ร่วม ซึ่งเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ดังกล่าวแล้ว อัยการสำนักงานคดีศาลสูง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีอาญาในชั้นฎีกา ได้ตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อเท็จจริงพยานหลักฐานโดยละเอียด เห็นว่าคดีมีเหตุอันควรที่จะฎีกา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงได้มีคำสั่งให้ฎีกาตามความเห็นของคณะทำงาน โดยอัยการสูงสุดได้ลงลายมือชื่อรับรองฎีกาโจทก์ตามกฎหมาย และอัยการได้ยื่นฎีกาต่อศาลเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559
ด้าน พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่อัยการจะยื่นฎีกา เพราะถ้าหากพนักงานอัยการไม่ยื่นฎีกาก็อาจจะถูกกดดันจากทางฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิตได้ ซึ่งหากมีการยื่นฎีกาขึ้นไปสู่ศาลฎีกาก็จะต้องมีการส่งสำเนาดังกล่าวของฝ่ายโจทก์มาให้จำเลย โดยตนจะใช้สิทธิยื่นคัดค้านฎีกาตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่รู้สึกวิตกและหนักใจแต่อย่างใด เนื่องจากคำพิพากษาของทั้งสองศาลก็ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงหลายอย่าง ตนจะไม่ก้าวล่วงดุลพินิจของศาลฎีกาและมีความพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิสูจน์ความจริงอย่างแน่นอน