xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอมีมติแจ้งข้อหาผู้บริหารแชร์ทองคำเพกาซัส “ฐานฉ้อโกง” เสียหายกว่า 800 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กรมสอบสวนคดีพิเศษสรุปสำนวนคดี “แชร์ทองคำเพกาซัส” มีมติแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับกลุ่มผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มูลค่าความเสียหายกว่า 800 ล้านบาท

วันนี้ (14 ก.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะที่กำกับดูแลสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เร่งรัดการปราบปรามการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยได้สั่งการให้นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เร่งรัดการสอบสวนในคดีพิเศษที่ 125/2558 กรณีกลุ่มบุคคลชักชวนให้ประชาชนสมัครสมาชิกลงทุนในทองคำให้ปันผลร้อยละ 10 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 24 เดือน (ร้อยละ 120 ต่อปี) ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามกฏหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

จากการสอบสวนพบว่า กลุ่มบุคคลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอ้างว่า บริษัท พีเอ็มบี เพกาซัส (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เพกาซัส บูลเลี่ยน ลิมิเต็ด จำกัด เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในทองคำ โดยจะให้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน (ร้อยละ 120 ต่อปี) ของน้ำหนักทองคำที่ลงทุนตั้งแต่ประมาณเดือนกรกฎาคม 2556 จนถึงเดือนมกราคม 2558 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวอ้างว่าบริษัททั้งสองได้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำแท่ง ซึ่งการซื้อขายทองคำแท่งนั้นจะมีให้เลือก 4 ขนาด คือ 20, 100, 500 และ 1,000 กรัม โดยมีราคาในการซื้อขายประมาณ 35,000 บาทต่อน้ำหนักทองคำ 20 กรัม แต่ทั้งนี้จะขยับขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับราคาทองคำและค่าเงินบาทด้วย และการซื้อขายทองคำนั้น หลังจากที่ผู้ลงทุนได้ลงทะเบียนซื้อทองคำแท่งแล้ว บริษัท เพกาซัส บูลเลี่ยน ลิมิเต็ด จำกัด จะจัดส่งใบรับรอง (PEGASUS CERTIFICATE GOLD COLLECTION) ให้แก่ผู้ซื้อ (ผู้ร่วมลงทุน) โดยผู้ซื้อทองคำจะเลือกรับผลตอบแทนเป็นทองคำหรือฝากเก็บไว้เพื่อรับดอกเบี้ยรายเดือนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

เมื่อมีผู้หลงเชื่อลงทุนเป็นจำนวนมาก กลุ่มบุคคลที่เป็นแกนนำได้ประกาศว่าบริษัทมีปัญหาล้มละลายและปิดตัวลง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หลงเชื่อที่กระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 1,000 ราย และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 800 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะพนักงานสอบสวนได้สอบถ้อยคำพยานผู้เสียหายทั้งสิ้นกว่า 300 ราย และผสานกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 แห่ง มีการยึดอายัดทรัพย์ที่ได้มาหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลค่าประมาณ 60 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคณะพนักงานสอบสวนได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 17 ราย และมีมติให้ออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 7 ราย ซึ่งทั้งหมดมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 343 ประกอบมาตรา 383

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังเร่งดำเนินการสอบสวนและอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานในคดีความผิดแชร์ลูกโซ่อีกหลายคดี คาดว่าจะทยอยแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับผู้กระทำความผิดอีกหลายคดี เช่น คดีแชร์น้ำมันกับบริษัท สตาร์โบรคเกอร์ จำกัด คดีแชร์เครื่องบินเหมาลำกับ หจก.สมายทราเวล คดีแชร์ Forex Oil กับบริษัท อีซี่แคช จำกัด เป็นต้น ดังนั้น หากประชาชนเกิดความเสียหายถูกหลอกลวงให้ลงทุนตามคดีพิเศษข้างต้นขอให้ติดต่อแจ้งความร้องทุกข์และให้ปากคำต่อคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ที่สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น