“สรรพากร” แนะร้านทองจดทะเบียนนิติบุคคล มั่นใจช่วยลดภาระด้านภาษีอากร ส่วนเรื่องระบบชำระภาษีของร้านทองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ National E-payment คาดจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน ม.ค.60
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา “โอกาสทอง ร้านทองเปลี่ยนผ่านสู่นิติบุคคล” โดยระบุว่า กรมสรรพากรมีนโยบายเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษีอากร และการจัดทำบัญชีเล่มเดียวให้ถูกต้อง รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านทองเปลี่ยนผ่านจากบุคคลธรรมดาสู่นิติบุคคล เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านทองคำทั้ง 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งผู้ประกอบการร้านทองที่เป็นนิติบุคคลจะได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ดังนี้
1.ฐานภาษี กรณีเป็นบุคคลธรรมดาเสียภาษีจากฐานเงินได้พึงประเมินสุทธิ ถ้าเป็นนิติบุคคลเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งจะเสียภาษีต่อเมื่อมีกำไรสุทธิทางภาษีเท่านั้น หากขาดทุนสุทธิไม่ต้องเสียภาษี เช่น ในกรณีที่ราคาทองคำลดลง หรือกรณีร้านทองถูกปล้นจะทำให้สูญเสียทองคำ ถ้าเป็นนิติบุคคลสามารถนำผลขาดทุนจากราคาทอง หรือความสูญเสียจากการถูกปล้นมาลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายได้ ทำให้ลดภาระด้านภาษี ซึ่งสามารถนำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาไม่สามารถทำได้
2.อัตราภาษี กรณีบุคคลธรรมดาเสียภาษีตามขั้นบันไดตามเงินได้สุทธิตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35 แต่นิติบุคคลเสียภาษีจากกำไรสุทธิ ถ้าเป็นนิติบุคคลทั่วไปเสียภาษีทั้งจำนวนในอัตราร้อยละ 20 ส่วนนิติบุคคลที่เป็น SMEs มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทได้รับยกเว้นภาษี หากมีกำไรสุทธิเกิน 300,000 บาทขึ้นไปเสียภาษีร้อยละ 10
3.การจัดทำบัญชี และเอกสารประกอบการลงบัญชี
- กรณีบุคคลธรรมดา ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ทำให้ขาดข้อมูลทางบัญชีในเชิงการบริหารจัดการ และการดำเนินธุรกิจ และมีความเสี่ยงตามกฎหมายของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเหลี่ยง หรือฉ้อโกงภาษีที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินด้วย
- กรณีนิติบุคคล ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ทำให้มีข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือในแต่ละธุรกรรม ไม่มีความเสี่ยงตามกฎหมายสรรพากรเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยง หรือฉ้อโกงภาษีที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินด้วย หากทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายเป็นนิติบุคคลจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีหลักฐานที่ถูกต้องทั้งด้านบัญชี และภาษีอากร โดยเฉพาะในฝั่งผู้ซื้อจะมีข้อมูลรายจ่ายที่ถูกต้องสมบูรณ์
4.การจัดทำบัญชีเล่มเดียวให้ถูกต้องสอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริงของกิจการ จะทำให้รู้สภาพปัจจุบันของธุรกิจ ด้านกำไร ขาดทุน ต้นทุน ช่วยแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายได้ตรงจุด เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการขอกู้เงินจากธนาคาร ช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากการสนับสนุนของภาครัฐ และภาคธนาคาร และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ผู้ประกอบการต้องใช้บัญชี และงบการเงินที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงิน และขออนุมัติสินเชื่อต่อสถาบันการเงินด้วย
5.ความรับผิดในหนี้ กรณีบุคคลธรรมดา บุคคลที่เป็นเจ้าของต้องรับผิดไม่จำกัด ส่วนนิติบุคคล กรณีที่เป็นบริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นทุกคนมีความรับผิดจำกัด เพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่ถือ แต่ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีทั้งหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
6.ในปี พ.ศ.2559 กระทรวงการคลังจะนำระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) มาใช้ในประเทศไทย โดยจะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในระบบ e-Payment ที่ธนาคารของรัฐทุกแห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้กรมสรรพากรสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทุกรายการที่มีการซื้อ และขาย ทำให้สามารถประเมินถึงรายรับ และรายจ่ายของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่สรรพากรก็จะมีข้อมูลจริงของผู้ประกอบการมากขึ้น
อธิบดีกรมสรรพากร ยังระบุด้วยว่า การเสียภาษีต่างๆ ทั้งหมดจะเชื่อมโยงกับระบบ e-Payment ที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่ ซึ่งจะมีข้อมูลการซื้อขายผ่านเครื่องรูดบัตรอัตโนมัติ ทำให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบปริมาณการซื้อขาย และรายได้ของภาคธุรกิจที่แท้จริงได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรยื่นภาษีให้ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งจะเริ่มต้นภายในวันที่ 1 มิ.ย.นี้
ขณะที่ร้านค้าทองคำกว่า 7,000 รายทั่วประเทศที่เดิมเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดามาโดยตลอด จะให้เวลาในการจัดตั้งบริษัทให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 ก่อนที่จะเข้าระบบในวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการแสดงความประสงค์จะเข้าระบบแล้วประมาณ 99%
ทั้งนี้ ที่ผ่านมายอดขายทองคำเฉลี่ย 400,000-500,000 ล้านบาทต่อปี แต่มีการเสียภาษีจริงจากยอดขายเพียง 200,000 ล้านบาท เชื่อว่าภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บภาษีใหม่จะส่งผลให้ GDP ประเทศดีขึ้น และกระบวนการตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีจะมีความชัดเจนมากขึ้น ยืนยันว่า ไม่เป็นการขูดรีดภาษีประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งกรมสรรพากรได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อออกไปให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการแล้ว
“จะให้ผู้ค้าทองรายใหญ่ 75 ราย จากทั้งหมด 7,000 รายทั่วประเทศ นำร่องออกใบกำกับภาษีในการซื้อขายทองคำเพื่อให้เข้าสู่ระบบภาษีในระยะแรกก่อน ซึ่งหากในอนาคตภาคธุรกิจทั้งหมดเข้าสู่ระบบ e-Payment ได้ จะทำให้ลดต้นทุนของประเทศลงได้ 7.5 หมื่นล้านบาท และจะส่งผลดีต่อจีดีพีประเทศไปด้วย”
สำหรับแผนในอนาคตนั้น กรมสรรพากร จะประสานงานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อดึงภาคธุรกิจทุกประเภทเข้าสู่ระบบภาษี เพราะมองว่า การเป็นนิติบุคคลจะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าการทำธุรกิจ และจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ด้าน นายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ยอมรับว่า ผู้ประกอบการร้านค้าทองยังกังวลเกี่ยวกับการเสียภาษีจากที่เคยจ่ายส่วนของเงินได้บุคคลธรรมดามาเป็นเงินได้นิติบุคคลที่ยังมีข้อสงสัยในหลายประเด็น แต่อย่างไรก็ดี พร้อมที่จะดำเนินการตามข้อแนะนำจากกรมสรรพากร และสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการทำบัญชีเดียวตามที่กรมสรรพากรต้องการ และเชื่อว่าหากร้านค้าทองคำเข้าสู่ระบบชำระภาษีถูกต้องก็จะทำให้เสียภาษีลดลงกว่าที่เคยเสียอยู่ในปัจจุบันด้วย