ศรีสะเกษ - ดีเอสไอลงพื้นที่สอบสวนเพิ่มเติมคดีแชร์ทองคำเพกาซัส ในศรีสะเกษ สร้างความเสียหายให้ประชาชนไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย สูญเงินกว่า 1,000 ล้านบาท
วันนี้ (6 เม.ย.) นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 นำคณะพนักงานสอบสวน คดีพิเศษที่ 125/2558 ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานจากผู้เสียหายในพื้นที่ ซึ่งได้ร้องทุกข์ว่าถูกหลอกลวงให้ลงทุนทองคำ กับบริษัท พีเอ็มบี เพกาซัส (ไทยแลนด์) จำกัด และ Pegasus Bullion Limited
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษเพื่อทำการสอบสวนคดีของการแชร์ทองคำที่มีทางกลุ่มชาวต่างชาติประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ร่วมกับคนไทยหลอกให้ประชาชนลงทุนแชร์ทองคำที่ไม่มีอยู่จริง โดยให้ผลตอบแทนอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน (ร้อยละ 120 ต่อปี) ของน้ำหนักทองคำที่ลงทุน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 จนถึงเดือนมกราคม 2558
โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวอ้างว่าบริษัททั้งสองได้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำแท่ง ซึ่งการซื้อขายทองคำแท่งนั้นจะมีให้เลือก 4 ขนาด ประกอบด้วยขนาด 20, 100, 500 และ 1,000 กรัม โดยมีราคาซื้อขายประมาณ 35,000 บาทต่อทองคำหนัก 20 กรัม โดยการปรับตัวของราคาขึ้นอยู่กับราคาของทองคำ และค่าเงินบาทด้วย และหลังจากที่ผู้ลงทุนได้ลงทะเบียนซื้อทองคำแล้วจะได้รับใบรับรองจากบริษัท Pegasus Bullion Limited จำกัด และจะสามารถเลือกรับผลตอบแทนเป็นทองคำ หรือฝากเก็บไว้เพื่อรับดอกเบี้ยรายเดือนก็ได้ ซึ่งมีผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก
แต่หลังจากมีผู้ร่วมลงทุนจำนวนมาก กลุ่มตัวแทนบริษัทก็ได้ออกมาประกาศว่าบริษัทมีปัญหาล้มละลาย และปิดตัวลง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนที่หลงเชื่อร่วมลงทุนซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนเพิ่มเติม และพยายามสืบทรัพย์เพื่อช่วยในการเฉลี่ยทรัพย์ช่วงบั้นปลายของคดี
นายปิยะศิริกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ระหว่างที่พนักงานสอบสวนได้ลงพื้นที่ติดตามคดี พบว่ามีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากได้เข้าพบกับคณะพนักงานสอบสวน เพื่อร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลที่ชักชวนให้ประชาชนลงทุนในกองทุนเหมืองทองคำในนาม Vergim Gold Mining Corperation หรือตัวย่อ VGMC ซึ่งอ้างว่าเป็นการลุงทุนกับเหมืองทองคำในประเทศแอฟริกาใต้ อีกทั้งยังพบการร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีการหลอกลวงให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในหุ้นน้ำมัน กับบริษัท อีซี่แคชฯ ในประเทศอินโดนีเซีย
จากการสังเกตนั้นจะเห็นได้ว่ามีพฤติกรรมการหลอกลวงลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันในเรื่องสิ่งที่ใช้ในการลงทุน ซึ่งคดีทั้ง 2 อยู่ในการดำเนินการของสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 อยู่แล้ว ซึ่งจะได้นำข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้ไปประกอบการสอบสวนต่อไป
“กรณีประชาชนถูกหลอกลวงในเรื่องของแชร์ลูกโซ่แล้ว ให้ท่านติดต่อมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เพื่อที่ทางเราจะได้ทำการตรวจสอบว่าสิ่งที่ประชาชนได้รับความเสียหายนั้นเป็นคดีที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบหรือไม่ แต่หากไม่ใช่จะได้นำคดีดังกล่าวส่งต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป” นายปิยะศิริกล่าวในตอนท้าย