ในช่วง 7 เดือนแรกที่นักลงทุนจะหายหน้าหายตาจากตลาดทองคำไปพอสมควร ส่วนใหญ่เปลี่ยนการถือสินทรัพย์ไป เนื่องจากประเด็นเชิงลบต่อตลาดทองคำถูกครอบงำมายาวนาน โดยในช่วงแรกนั้นตลาดหุ้นเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนชาวไทย เนื่องจากช่วงต้นปีดัชนี SET ได้ปรับตัวขึ้นเหนือ 1,600 จุด แต่หลังๆ มาจะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นนั้นก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน โดยการลงทุนในทองคำที่อยู่ในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) นั้น ปริมาณการซื้อขายนั้นค่อยๆ ลดลงติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ขณะที่ตลาดทองคำที่ซื้อขายจริงก็อ่อนแรงลงบ้าง แม้จะมีการซื้อขายทองคำรูปพรรณที่เป็นกระแสข่าวบ้างว่ามีการแห่เข้าไปซื้อกันหลังจากราคาทองคำดำดิ่งลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา แต่เอาเข้าจริงยิ่งราคาทองคำปรับตัวลงมากขึ้นเท่าใด ก็เริ่มเกิดความกลัวตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกังวลว่าเราจะมีต้นทุนที่สูง หรือเรียกกันติดปากว่าเราจะติดดอยทองหรือเปล่า
ดังนั้น ปริมาณการซื้อขายนั้นจึงเริ่มเบาบางลง ซึ่งจากข้อมูลตลาดอนุพันธ์ของไทย (TFEX) นั้นจะพบว่า แนวโน้มส่วนใหญ่ของสัญญาการซื้อขายในแต่ละเดือนนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสัญญาขนาด 10 บาททองคำ ได้ปรับตัวลงต่ำกว่าหนึ่งแสนสัญญาในช่วงเดือน มี.ค. และเคลื่อนไหวในระดับหลักหมื่นสัญญามาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่สัญญาขนาด 50 บาททองคำ ก็ลดลงเช่นกัน
เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งในการที่ปริมาณการซื้อขายลดลงก็คือ การอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำ ซึ่งถูกกดดันมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จนส่งผลให้คาดการณ์กันไปว่า นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะหดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับขึ้นภายในปีนี้ โดยคาดหมายกันว่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน ดังนั้น หากประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังคงไม่ชัดเจน การกลับมาลงทุนในตลาดทองคำอาจทำได้อยาก นักลงทุนจะยังคงชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนดังกล่าว จึงทำให้ช่วงนี้อาจต้องทนความซบเซาของตลาดต่อไปก่อน