MGR Online - รอง ผบช.น.เผยเตรียมสอบรอง ผบก.-รอง สว. อดีต ผกก.ประชาชื่น โดนด้วย รวม 13 ราย เหตุทำสำนวนบกพร่อง ส่วนเรื่องตำรวจเจ้าของสำนวนถูกบังคับให้แจ้งความขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนระเบียบและกฎหมาย เมื่อตรวจสอบเรื่องนี้เสร็จแล้วคณะกรรมการจะเสนอว่าควรสอบขอเท็จริงหรือไม่
วันนี้ 13 ก.ค. เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงคณะพนักงานสอบสวนที่ทำคดีนางมณตา หยกรัตนกาญ หรือนางไก่ แจ้งความเอาผิดลูกจ้างว่าลักทรัพย์นายจ้างจำนวน 9 คดี เหตุเกิดในท้องที่ สน.ประชาชื่น ว่ามีความคืบหน้าไปเยอะ มีการพิสูจน์ทราบความถูกผิด และจะดำเนินคดีเพิ่มเติมในเรื่องไหน ก็พอใจในระดับหนึ่ง ภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีความจัดเจน
เมื่อถามว่าในการสอบข้อเท็จจริงน่าจะมีพนักงานสอบสวนหรือตำรวจที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องประมาณกี่คน พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า พนักงานสอบสวนที่รับคดีนี้มี 5 คน และก็มีหัวหน้างาน มีผู้ที่ต้องควบคุมการปฏิบัติ ก็ต้องตรวจสอบดูว่าได้ตรวจตราดูแลเอาใจใส่ เพราะในสำนวนการสอบสวน ตามคำสั่ง ตร.ที่ 419 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องตรวจสำนวนเมื่อไหร่ อย่างไร บางสำนวนเอกสารมีกี่ชิ้นมีกี่แผ่นเกิดจากอะไร ก็คงจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้
ถามว่ามีกระแสข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ถึง 10 คน พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า พนักงานสอบสวน 5 คน และก็มีผู้บังคับบัญชาพนักงานสอบสวนอีกบางส่วนว่าได้ไปตรวจสอบดูแลเอาใจใส่หรือไม่ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน อย่างที่บอกถ้ายึดหลักความถูกต้องคงไม่มีเหตุอย่างนี้เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ถ้าพบว่ามีการกระทำผิดทั้งในเรื่องกฎหมายและในเรื่องระเบียบการปฏิบัติก็ต้องว่ากันไป
เมื่อถามว่าพนักงานสอบสวนมีการอ้างว่านางไก่บังคับให้ตำรวจดำเนินคดีกับลูกจ้างที่ถูกแจ้งความ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า ตนได้ย้ำกับพนักงานสอบสวนไว้แล้วว่าท่านเป็นต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรม ใครจะมาบีบบังคับ ใครจะมากดดันไม่ต้องไปสนใจ ถ้าเราปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ไม่ต้องมาอ้างว่าถูกกดดัน เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ความเป็นธรรมต้องเกิดแก่ทุกฝ่ายทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่ให้ความเป็นธรรม เฉพาะฝ่ายกล่าวหาอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นใครก็มากล่าวหาคนอื่นเรื่อยเปื่อย
พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวอีกว่า ส่วนการคาดโทษหากพบบกพร่องโดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนา ไม่ได้ทุจริต ถือว่าผิดวินัยไม่รุนแรงก็จะพิจารณาตามขั้นตอนตามกฎ ก.ตร. แต่หากพบว่าทุจริตผิดวินัยร้ายแรงก็ต้องไล่ออก
ต่อมาเวลา 15.15 น. พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ รอง ผบช.น.กล่าวว่า คณะกรรมการประชุมพิจารณาความบกพร่องทั้ง 9 สำนวน ยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากคระกรรมการมีข้อสงสัยในเอกสารที่ระบุว่าในช่วงเวลาที่มีการแจ้งความทั้ง 9 คดี ใครเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวนบ้าง จำเป็นต้องนำเอกสารมาวินิจฉัยเพิ่มเติมในข้อกฎระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตาม ป.วิอาญา เพื่อความชัดเจนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีพนักงานสอบสวน หรือผู้บังคับบัญชาระดับใดบ้างที่บกพร่องในการทำสำนวนการสอบสวน โดยวันนี้คงมีการประชุมต่อ ส่วนการสรุปผลคาดว่าจะเสร็จทันในวันพรุ่งนี้เพื่อแถลงข้อมูลต่อสื่อมวลชวนอีกครั้งเวลาประมาณ 13.00 น.
สำหรับการตรวจสำนวนในลักษณะเช่นนี้นอกจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนั้นๆ แล้ว ระเบียบคำสั่ง ตร.ที่ 419 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ระดับหัวหน้างานสอบสวนระดับ ผกก. หัวหน้าสถานี และรอง ผบก.ที่รับมอบหมายจาก ผบก.ดูแลงานสอบสวน มีหน้าที่ในการตรวจสำนวนการสอบสวนให้เป็นไปตามระเบียบคำสั่ง ตร.ที่ 419 และเป็นไปตาม ป.วิอาญา สำหรับนายตำรวจที่ต้องถูกตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นมีตั้งแต่ระดับรอง ผบก.-รอง สว.จำนวน 12-13 คน ส่วนการพิจารณาให้ช่วยราชการหรือไม่ ต้องรอผลตรวจสอบอย่างเป็นทางการพรุ่งนี้ก่อน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพนักงานสอบสวนด้วยว่าเขาปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่
พล.ต.ต.จารุวัฒน์ยืนยันว่า ต้องมีพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบสำนวนบางสำนวนจาก 9 สำนวน จะถูกตั้งข้อหาผิดระเบียบ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419 ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิอาญา 131 เพราะมีความบกพร่องในเรื่องไม่ตรวจสำนวน รวมถึงการทำสำนวนล่าช้า นอกจากมีความล่าช้าแล้วยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน และไม่รวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน รวมถึงสอบสวนไม่ครบประเด็น การใช้ดุลพินิจโดยไม่ถูกต้องทำให้เกิดความบกพร่องในการทำสำนวนคดีอาญา
ถามว่าคดีลักทรัพย์นายจ้างต้องมีการตรวจพิสูจน์หลักฐานเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ พล.ต.ต.จารุวัฒน์กล่าวว่า เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยการใช้ดุลพินิจนั้นต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้ง 9 สำนวนคดีมีบางคดีที่ไม่ได้ให้พิสูจน์หลักฐานลงไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น
เมื่อถามว่าข้อหาที่มีการตั้งขึ้นมาเจ้าทุกข์เป็นคนตั้งหรือพนักงานสอบสวนฟังข้อเท็จจริงแล้วพิจารณาตั้งข้อหาเอง พล.ต.ต.จารุวัฒน์กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้แจ้งความตามข้อกล่าวหา ผู้มาแจ้งความยืนยันในข้อกล่าวหา
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ตำรวจเจ้าของสำนวนถูกบังคับให้รับแจ้งความมีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไรบ้าง พล.ต.ต.จารุวัฒน์กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง วันนี้เราตรวจสอบในเรื่องระเบียบและกฎหมายก่อน เมื่อตรวจสอบเรื่องนี้แล้วผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเสนอว่าเห็นควรตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือระงับ
ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทําลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นำนายชูเกียรติ ใจกล้า นางประภาพร ใจกล้า น.ส.ประภาวรรณ ใจกล้า หรือน้องก้อย น.ส.จันทนา คชคงไทย หรือหนูนา และนางสุกัลยา ศิริม่วง ผู้เสียหายในคดีที่นางไก่กล่าวหาว่าลักทรัพย์นายจ้าง เข้าพบ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.ผบช.น.) และ พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ รอง ผบช.น. เพื่อให้ปากคำและมอบหลักฐานสำคัญทางคดีเพิ่มเติม
ทั้งนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิดหญิงรับใช้ ผู้เสียหายที่ถูกนางไก่แจ้งความดำเนินคดีฐานลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ในการสอบปากคำดังกล่าวพบว่าภายหลังจากที่ พล.ต.อ.พงศพัศ, พล.ต.ท.ศานิตย์ และ พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ออกจากห้องประชุมเพื่อให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำนั้น ในการสอบปากคำวันดังกล่าวพบว่าการสอบปากคำนางสุกัลยามีความผิดปกติ คือมีการสอบปากคำนานถึง 5 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 12.00-17.00 น. และทางพนักงานสอบสวนมีการพูดจาเหน็บแนม ใช้ถ้อยคำข่มขู่ ทำนองว่านางสุกัลยามีการกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่นที่รับแจ้งความหรือไม่ อีกทั้งยังพยายามให้นางสุกัลยารับว่าลายเซ็นในสำนวนว่าเป็นของตนเอง ซึ่งนางสุกัลยายืนยันว่าตนไม่เคยเซ็นเอกสารใดๆ ยืนยันว่าเคยเขียนและเซ็นด้วยลายมือตัวเองเพียงครั้งเดียวและแผ่นเดียวเท่านั้น แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีลายเซ็นปรากฏในสำนวนอีกหลายแผ่นได้อย่างไร