xs
xsm
sm
md
lg

ล็อก“อดุลย์ศิษย์ทักษิณ”ขึ้นผบช. “สีกากีประทวน”ไร้เส้นเหนื่อย!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ไม่น่าพลาด การแต่งตั้ง “นายพล” วาระประจำปี 2559 ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ชื่อ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.) ดีกรี “ดอกเตอร์”ด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล จะก้าวขึ้นมาติดยศ “พล.ต.ท.” นั่งเก้าอี้ “ผบช.รร.นรต.” เป็น ครูใหญ่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน แทนพล.ต.ท.ศักดิ์ดา เตชะเกรียงไกร ผบช.รร.นรต. ที่ลำดับอาวุโสระนาย ผบช. อยู่กลุ่ม 33% ตามกฎ ก.ตร. ที่ต้องขยับขึ้น ผู้ช่วย ผบ.ตร.โดยอัตโนมัติ

หลังจากสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่มีพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองผบ.ตร. ในฐานะนายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นั่งหัวโต๊ะประชุมสภาการศึกษา รร.นรต. ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2559 พิจารณาวิสัยทัศน์ 3 นายตำรวจ ทั้ง พล.ต.ต.อดุลย์, พล.ต.ท.ปิยะอุทาโย ผบช.ก.ตร. และพล.ต.ต.มาโนช ตันตระเธียร รองผบช.รร.นรต. ก่อนมีมติเลือก พลต.ต.อดุลย์ สมควรดำรงตำแหน่ง ผบช.น.นรต. ในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2559 เพื่อเสนอ ก.ตร.พิจารณาเห็นชอบต่อไป นี่เป็นสิ่งการันตีที่อดุลย์จะขึ้นเป็นพลตำรวจโท

การก้าวขึ้นเป็น ครูใหญ่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ นอกจากวิสัยทัศน์ ที่ “เข้าตาโดนใจ” สภาการศึกษา รร.นรต.แล้ว สายสัมพันธ์ของ “รองฯอดุลย์” ที่มีอาวุโสระนาบ รองผบช. ประมาณสิบปลายๆ ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 33% ที่จะขยับขึ้น ผบช. แบบอัตโนมัติ จะว่าไปก็มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงคุ้นแคยกับพล.ต.อ.ชิดชัยพอสมควร เนื่องจากพล.ต.อ.ชิดชัย เคยเป็น รองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล”ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่ง พล.ต.ต.อดุลย์ ก็เป็นรุ่นน้องโรงเรียนมงฟอร์ด จ.เชียงใหม่ ของรุ่นพี่”ทักษิณด้วย

นอกจากนี้การเติบโตในชีวิตราชการส่วนใหญ่ รองฯอดุลย์ ก็วนเวียนอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเคยเป็น ผกก.สภ.เชียงแสน จ.เชียงราย จึงมีความสนิทมักคุ้นกับ”ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ถึงขนาดในยุคที่เจ้าของวลี “มีวันนี้เพราะพี่ให้” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็น ผบช.น. ก็ต่างจับตากันว่าหาก “บิ๊กแจ๊ส” เกษียณราชการไป “รองฯอดุย์” น่าจะได้ขยับขึ้นมาคุมเมืองหลวงแทน แต่สุดท้ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ถูกยึดอำนาจเสียก่อน ทุกอย่างเลยไม่ได้เดินไปตามที่มีการคาดการณ์กันไว้

อย่างไรก็ดี ถึงฟ้าจะเปลี่ยนสี อำนาจจะเปลี่ยนมือ แต่ด้วย”กึ๋น”ระดับ “ดอกเตอร์” ผนวกกับสายสัมพันธ์ที่ดี ก็ยังมีช่องทางให้ พล.ต.ต.อดุลย์ ไม่ต้องไปลุ้นวัดใจ ก.ตร.ยุค“บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ก.ตร. และ”บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แม่ทัพใหญ่สีกากี จะเสนอชื่อให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง “ผบช.”หรือไม่

ตอกย้ำยุทธจักร “โล่เงิน” นอกจากมีฝีมือ มีผลงานแล้ว เส้นสาย ความสัมพันธ์ ก็ต้องมีควบคู่กันไปด้วย ไม่เช่นนั้นเส้นทางการเจริญเติบโตในชีวิตราชการสีกากีก็จะไม่ได้อย่างที่ใจปรารถนา ขนาดระดับ รองสารวัตรและชั้นประทวน ซึ่งอยู่ระดับฐานล่างของ “ปิรามิด” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่มียกเว้น

อย่างในการแต่งตั้งตำรวจระดับ สว.-ชั้นประทวน วาระประจำปี 2558 ที่กำลังอยู่ระหว่างทำบัญชีแต่งตั้งที่คาดว่าไม่น่าจะเกินวันที่ 20 ก.ค.นี้ ทุกอย่างน่าจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว แม้ “ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการตำรวจระยะ 20 ปี ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ซึ่ง”บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แม่ทัพใหญ่สีกากี ร่างออกมา เพื่อให้ “องค์กรบังคับใช้กฎหมายที่ยุติธรรม ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา และมีมาตรฐานสากล” ตามเป้าหมายที่ระบุเอาไว้

โดยเฉพาะประเด็นปรับปรุงการบริหารงานบุคคลและเส้นทางเจริญเติบโต มีการกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจแต่ละระดับเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งในส่วนระดับปฏิบัติการ รองสว.-ผบ.หมู่ ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคำนึงถึงการบรรเทาความเดือดร้อน เพื่อให้ได้รับการแต่งตั้งใกล้ภูมิลำเนามากที่สุด สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน

แต่บันทึกข้อความของพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาการผบช.น. ที่แจ้งถึง ผบช.หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก.ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า เรื่องการแต่งตั้งตำรวจระดับ สว.-ผบ.หมู่วาระประจำปี 2558 อ้างถึงคำสั่ง ตร.เกี่ยวกับคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว

“เนื่องด้วย บช.น.มีภารกิจต่างๆจำนวนมาก ตลอดจนในปัจจุบันขาดแคลนกำลังพลระดับ รองสว.และผบ.หมู่ ในการปฏิบัติหน้าที่ และจากการตรวจสอบมีข้าราชการตำรวจรายชื่อปรากฏตามบัญชีที่แนบมา สมัครใจดำรงตำแหน่งในสังกัดของท่าน ดังนั้นเพื่อให้การบริหารงานของ บช.น. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดความเสียหายต่อทางราชการ

บช.น.จึงพิจารณามีความเห็นไม่ขัดข้องในกรณีดังกล่าว หากแต่ขอกำลังสับเปลี่ยนทดแทนในคราวเดียวกันทุกรายและหากพิจารณามีความเห็นเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ หากจะพิจารณาแต่งตั้งตำรวจดังกล่าวไปดำรงตำแหน่งในสังกัดขอได้โปรดประสานทำความตกลงมายัง บช.น.อีกครั้งหนึ่ง”

ถึงจะไม่ได้ “ขัดข้อง” หากมีการขอย้ายออกนอกหน่วย หรือขอย้ายกลับภูมิลำเนา แต่การขอกำลังสับเปลี่ยนทดแทน ก็เหมือนปฏิเสธในที โดยเฉพาะตำรวจที่ไร้เส้น ไร้สาย ถ้าขอกลับบ้าน ขอกลับภูมิลำเนา ใครจะมาช่วยหากำลังสับเปลี่ยนให้ ซึ่งก็จะไม่มีโอกาสได้ย้ายกลับบ้านเลย

เมื่อแนวทาง “ทฤษฏี” ตรงข้ามกับแนวทาง “ปฏิบัติ” ถึงจะมีข้ออ้างความจำเป็นการขาดแคลนกำลังพล แต่เมื่อมีเงื่อนไขเช่นนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ “ตำรวจ” ที่ไม่เว้นแม้แต่ชั้นประทวน ซึ่งเป็นลำดับปฏิบัติ ระดับฐานล่างสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ต้องเข้ามาอยู่ในวังวนของระบบ “วิ่งเต้น” เพื่อหาเส้นสายในการโยกย้ายให้ได้กลับบ้าน ได้กลับภูมิลำเนา จะปฏิรูปตำรวจ 10 ปี 20 ปี 50 ปี หรือ 100 ปี หาก”ทฤษฏี”ยังคงตรงข้ามกับ “ปฏิบัติ”เช่นนี้ ก็ไม่มีทางหนีพ้นวังวน”วิ่งเต้น”ไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น