xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก “เมธี-วัชระ” 1 ปี 4 เดือน หมิ่น “จตุพร” อมเงินบริจาค รอลงอาญา 2 ปี (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุก 2 ปี ปรับ 1 แสน “เมธี อมรวุฒิกุล-วัชระ เพชรทอง” กล่าวหา “จตุพร พรหมพันธุ์” อมเงินบริจาคคนเสื้อแดง 68 ล้าน ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6.6 หมื่น โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี



ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ (9 มิ.ย.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ อ.3910/2553 ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเมธี อมรวุฒิกุล อดีตแนวร่วม นปช. และอดีตดารานักแสดงชื่อดัง, บริษัท นสพ.แนวหน้า จำกัด, นายโชคชัย สุมน, นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์, บริษัท เอ็นเอส ทีนิวส์ จำกัด, บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2553 นายเมธี แถลงข่าวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ทำนองว่านายจตุพรอมเงินบริจาคของคนเสื้อแดงจำนวน 68 ล้านบาท และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้หญิงบนชายหาดเมืองพัทยา รวมทั้งกล่าวหาว่านายจตุพรโทรศัพท์ขู่ฆ่าจำเลย ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความซึ่งจำเลยที่ 1 กล่าวถึงเงินบริจาคคนเสื้อแดง 68 ล้านว่าเป็นเงินบริสุทธิ์ ต้องทำให้โปร่งใส ไม่ใช่รับรู้เพียงโจทก์และพวก 3 คน โดยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อความโปร่งใสนั้น เป็นการกล่าวทำให้โจทก์เสียหายว่าอมเงินบริจาค การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษาว่า นายเมธี จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน และปรับ 66,666 บาท ขณะที่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-7 ให้ยกฟ้องเนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอว่าได้ร่วมกันกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์

โดยวันนี้ปรากฏว่านายเมธี จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มาศาลครั้งที่แล้วและศาลได้ออกหมายจับไว้ ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2-7 ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุยกเว้นโทษให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ที่ว่า นายจตุพร โจทก์ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบดูแลเงินบริจาคจำนวน 68 ล้านบาทดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบเพื่อยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้นำเงินบริจาคไปจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่เหตุยกเว้นโทษให้จำเลยที่ 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุควรลงโทษจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษจำคุกหรือไม่

เห็นว่า นายจตุพรโจทก์ได้เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านโดยยอมรับว่าหลังจากเกิดเหตุ ผู้ที่เกี่ยวของกับเงินบริจาคหลายคนถูกจับกุมและบางคนหลบหนี ทำให้ไม่ได้จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเงินบริจาคเงินจำนวน 68 ล้าน แม้ภายหลังจะได้จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแล้ว แต่ยอมรับว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้เปิดเผยบัญชีเงินบริจาคให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมทราบ จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ว่าตลอดระยะเวลาการชุมนุมไม่เคยมีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เหตุที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเงินบริจาคเพื่อต้องการท้วงติงโจทก์ ดังนั้นแม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความผิด แต่ก็มีเหตุอันควรปรานี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ได้กลับตัว การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษของศาลชั้นต้นโดยรอการลงโทษจึงเหมาะสมแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกว่า จำเลยที่ 2-4, 6 และ 7 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่

เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบว่า นายวัชระ จำเลย ที่ 4 ได้คัดลอกคำให้สัมภาษณ์ของนายเมธี จำเลยที่ 1 มาใส่ในบทความของจำเลยที่ 4 ในหนังสือพิมพ์ โดยมีข้อความที่นายเมธีกล่าวหมิ่นประมาทโจทก์รวมอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 4 ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่นอนเสียก่อน และมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ กระทำของจำเลยที่ 4 มิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมหรือเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 มานั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และ 4 มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามป.อาญามาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 1 แสนบาท คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 66,666 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยที่ 1 และ 4 ร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ เป็นเวลา 3 วัน ส่วนจำเลยที่ 2,3,6 และ7 นั้นโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงยืนยันว่าเป็นผู้ใส่ความโจทก์หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

ภายหลังนายเมธีกล่าวว่า คดีนี้ศาลพิพากษาลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน โดยให้รอลงอาญา ซึ่งในการฟังคำพิพากษาครั้งที่แล้วที่ถูกศาลออกหมายจับ เพราะตนเป็นพยานที่อยู่ในความคุ้มครองของดีเอสไอ ทำให้ไม่ทราบข้อมูลวันนัดพิพากษา แต่เมื่อทราบว่าถูกออกหมายจับและศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้จึงเดินทางมาฟัง และส่วนตัวก็อยากจบเรื่องนี้ แต่คดีก็ต้องสู้กันต่อไป โดยจะปรึกษาทนายความก่อน

ด้านนายวัชระกล่าวว่า ตนขอเป็นกำลังใจให้นายเมธี และขอน้อมรับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่จะขอใช้สิทธิยื่นฎีกาสู้คดีต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น