MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกคนละ 2 ปี “วาสนา เพิ่มลาภ-ปริญญา นาคฉัตรีย์” ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สอบสวนคดีล่าช้า พรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งปี 49 หลังคำพิพากษา จนท.นำตัวทั้งสองเข้าเรือนจำทันที
วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 710 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ อ.1464/2549 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อายุ 67 ปี อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายปริญญา นาคฉัตรีย์ อายุ 68 ปี, นายวีระชัย แนวบุญเนียร อดีต กกต. (เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 24 และ 42 กรณีที่ไม่เร่งสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคการแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ลงรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 2549 โดยพลันตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและการวินิจฉัย พ.ศ. 2542 มาตรา 37, 48 จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2549 ให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา, นายปริญญา และนายวีระชัย จำเลยที่ 1-3 คนละ 3 ปี ขณะที่ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี ต่อมาวันที่ 14 พ.ค. 2551 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระหว่างฎีกาคดี นายวีระชัยจำเลยที่ 3 ได้เสียชีวิตลง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1-2 สั่งประชุม กกต.เพื่อพิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจากการร้องเรียนเลือกตั้งไม่ทุจริตที่ให้สอบสวนเพิ่มเติมในส่วนของพรรคไทยรักไทย ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และเพื่อเป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทยหรือไม่ เห็นว่าขณะเกิดเหตุ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 136-148 กำหนดให้มี กกต.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่อิสระในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริต รวมทั้งมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่สุจริต โดยมาตรา 147 บัญญัติว่า หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่ไม่สุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็ให้อำนาจ กกต.ตั้งอนุกรรมการสอบสวนและสั่งการโดยพลัน ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ แล้ว ได้มีการรายงานผลว่า เชื่อว่ามีการกระทำผิดของผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย รวมทั้งพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ซึ่งต่อมาจำเลยได้มีมติให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ กกต.ที่ได้แก้ไขข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคที่ขาดคุณสมบัติเรื่องการสังกัดพรรค 90 วัน ให้มีคุณสมบัติครบเพื่อลงเลือกตั้งในเขตที่พรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงพรรคเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ให้ได้คะแนนเสียงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมทั้งให้ดำเนินการกล่าวโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้องและผอ.พรรคเล็ก และแจ้งให้อัยการสูงสุดยุบพรรคเล็ก
ตามรายงานของอนุกรรมการไต่สวนฯ ยังมีพยานที่เชื่อได้ว่ามีการรับเงินค่าตอบแทนจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม และนายพงษ์ศักดิ์ รัตตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.คมนาคม ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย แต่จำเลยกลับสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย เนื่องจากเห็นว่ามีการพาดพิงผู้บริหารพรรคไทยรักไทยหลายคน โดยนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาได้มีหนังสือแจ้งมาที่จำเลยที่ 1 ว่าไม่จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมอีก แต่จำเลยไม่ได้ตระหนัก อีกทั้งยังออกหนังสือเชิญให้ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดใหม่ กระทั่งเมื่ออนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดใหม่ได้สรุปสำนวนส่งให้จำเลยแล้วจึงได้ประชุมและมีมติให้ส่งสำนวนพรรคไทยรักไทยให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา ตามความเห็นของนายนาม ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดก่อน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าพวกจำเลยเชื่อตามสำนวนสอบสวนของนายนาม
โดยข้อเท็จจริงก็ยังปรากฏแต่แรกว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทยซึ่งได้รับตำแหน่งสำคัญเป็นถึงรัฐมนตรี เมื่อมีการดำเนินการใดย่อมส่งผลประโยชน์ต่อพรรค แต่จำเลยไม่สั่งการให้ดำเนินการกับพรรคไทยรักไทยแต่ก่อนหน้ากลับสั่งให้วินิจฉัยสอบสวนพรรคไทยรักไทยเพิ่มเติม กระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 2549 แล้วจำเลยได้ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเร่งรีบ ที่จะมีผลให้ทางพรรคไทยรักไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่จำเลยสั่งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ กกต. และพรรคเล็กทันที จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ
จึงเชื่อว่าจำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าการดำเนินคดีย่อมส่งผลต่อพรรคไทยรักไทยอย่างรุนแรง จำเลยที่ 1 เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองย่อมแจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณาส่งสำนวนให้ศาลยุบพรรคไทยรักไทยได้ การประชุมของจำเลยและลงมติให้สอบสวนเพิ่มเติมจนเวลาล่วงเลยถึงการเลือกตั้ง จึงเป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทย ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ซึ่งเป็นความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.กกต. พ.ศ. 2541 มาตรา 24 และ42 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา จึงไม่เกินคำขอ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลรอการลงโทษเนื่องจากจำเลยมีอายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรงต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำเลยเคยรับราชการ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาตินั้น เห็นว่าการที่จำเลยรับตำแหน่งสำคัญและทำคุณงามความดีจนได้รับเลือกเป็น กกต. จำเลยต้องทราบดีว่าการเป็น กกต.จัดการเลือกตั้งต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้น จำเลยต้องดำรงความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นคุณต่อประเทศมากที่สุด แต่จำเลยกลับกระทำตรงข้าม แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมละทิ้งคุณงามความดีที่ได้กระทำมาทั้งหมด จำเลยจึงไม่ควรยกมาอ้าง แม้จำเลยจะมีอายุมากและสุขภาพไม่ดีก็ไม่เพียงพอจะให้รอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัว พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ และนายปริญญา นาคฉัตรีย์ ไปคุมขังเรือนจำทันที