รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี ฮัสซัน โรฮานี และพันธมิตรของเขา กวาดที่นั่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในศึกเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามผลโหวตขั้นสุดท้ายที่เปิดเผยในวันจันทร์ (29 ก.พ.) ผลเลือกตั้งที่อาจนำพาอิหร่านมีส่วนร่วมกับโลกมากขึ้น หลังจากรัฐบาลของเขายุติมาตรการคว่ำบาตรด้วยการยินยอมยับยั้งโครงการนิวเคลียร์
ในผลเลือกตั้งขั้นสุดท้ายแสดงให้เห็นว่าคะแนนถูกแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ทั้งสายอนุรักษ์นิยม พวกอิสระ และพันธมิตรสายการและสายปฏิรูปของนายโรฮานี ทั้งนี้แม้ไม่มีกลุ่มใดได้สัดส่วนที่เด็ดขาดในเก้าอี้รัฐสภา 290 ที่นั่งจากศึกเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ (26 ก.พ.) แต่ผลคะแนนบ่งชี้ว่าประธานาธิบดีโรฮานีจะได้รับแรงสนับสนุนจากเหล่าผู้สนับสนุนสำคัญและได้ครองเสียงข้างมาก
ผลการเลือกตั้งที่เผยแพร่ออกมาในวันจันทร์ (29 ก.พ.) นับเป็นความผิดหวังใหญ่หลวงของพวกสถาบันอิสลามิกอนุรักษนิยม แม้ยังคงรักษาอำนาจเด็ดขาด สืบเนื่องจากระบอบคู่ขนานของอิหร่าน ระหว่างระบอบศาสนากับระบอบสาธารณรัฐก็ตาม
ส.ส.เกือบทั้งหมดที่สอบตกในคราวนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกต่อต้านอย่างแข็งกร้าวต่อข้อตกลงนิวเคลียร์ ในนั้นรวมถึง เมห์ดี คูชาคซาเดห์ ที่วิจารณ์นายโมฮัมมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศว่าเป็นคนทรยศ และโรฮอลลาห์ ฮอสเซเนียน ที่ขู่ฝังคณะผู้แทนเจรจาไว้ใต้ปูนซีเมนต์ ฐานยินยอมดำเนินการตามเหล่าชาติมหาอำนาจ
“การเลือกตั้งครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” บทบรรณาธิการของหนังสิอพิมพ์สายปฏิรูปมาร์ดอมซาลารีกล่าว “ความสำเร็จครั้งใหญ่ของการเลือกตั้งครั้งนี้คือการที่พวกสายปฏิรูปหวนคืนสู่ระบบการปกครอง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ถูกเรียกว่าพวกนักปลุกปั่นและพวกแทรกซึมอีกต่อไป” บทบรรณาธิการกล่าว อ้างถึงคำพูดที่พวกสายแข็งกร้าวใช้เรียกเหล่านักปฏิรูปที่เกี่ยวพันกับตะวันตก
โรฮานีและพันธมิตรสายกลางยังคว้าเก้าอี้ 15 จาก 16 ที่นั่งในเตหะรานของสภาผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีทั้งหมด 88 ที่นั่ง โดยสภาแห่งนี้มีภารกิจคือเลือกผู้นำสูงสุดคนต่อไปของประเทศ ผิดกับพวกอนุรักษนิยมคนดัง 2 ราย ในนั้นรวมถึงประธานขององค์กรศาสนาทรงอำนาจแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาที่สูญเสียเก้าอี้ในเมืองหลวง
เหล่าผู้สมัครจากสายปฏิรูปสามารถกวาดเก้าอี้ทั้ง 30 ที่นั่งในเขตเลือกตั้งเตหะราน เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 ที่นั่ง จากผลการเลือกตั้งที่เปิดเผยของรัฐมนตรีมหาดไทย อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเมืองหลวงแล้ว พวกเขากลับได้รับชัยชนะอย่างจำกัดในพื้นที่อื่นๆ ด้วยฝ่ายอนุรักษนิยมสามารถรักษาเก้าอี้ได้อย่างมากมายในทั้งสององค์กร
ในการเลือกตั้งควบคู่กัน ทั้งสมาชิกสมัชชาผู้เชี่ยวชาญและรัฐสภาถูกเหล่านักวิเคราะห์มองว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญยิ่งของอิหร่าน ตามหลังถูกโดดเดี่ยวมานานหลายปี และยังถูกมองในฐานะการลงมติไว้วางใจรัฐบาลของนายโรฮานีและนโยบายผ่อนคลายกับตะวันตกของเขา
จากผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่นับโดยรอยเตอร์ จนถึงตอนนี้บ่งชี้ว่าแคมป์ของนายโรฮานีและผู้สมัครอิสระทำผลงานได้อย่างแข็งแกร่งทั่วประเทศในศึกเลือกตั้งรัฐสภา
ทั้งนี้ แม้ฝ่ายอนุรักษนิยมคว้าไปเป็นราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ฝ่ายปฏิรูปก็ไล่หลังมา 30 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยผู้สมัครอิสระ 17 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 13 เปอร์เซ็นต์จำเป็นต้องเลือกตั้งรอบ 2 ขณะที่ในการเลือกตั้งคราวนี้มีผู้หญิงได้รับเลือกเข้ามาหลายสิบคน
นักเวิคราะห์มองว่าจำนวนผู้สมัครอิสระที่ได้รับเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอย่างมากคือนัยสำคัญ เนื่องจากพวกเขาอาจร่วมมือกับกรอบอุดมการณ์ต่างๆ ของรัฐบาลนายโรฮานี “คงต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่รูปร่างที่แท้จริงของรัฐสภาใหม่จะชัดเจน ผู้สมัครอิสระจะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจต่างๆ ของรัฐบาลชุดถัดไป” ฮามิด ฟาราวาเชียน นักรัฐศาสตร์กล่าว “เราไม่รู้ว่ามี ส.ส.ใหม่มากน้อยแค่ไหนและจุดประสงค์ทางการเมืองของพวกเขา”