ตำรวจจำนวนหนึ่งจะไม่ยอมจบง่ายๆ และน่าจะมีการฟ้องร้อง ขึ้นโรง ขึ้นศาล น่าจะเป็นเรื่อง “นโยบายการแต่งตั้ง” โดยเฉพาะ "ตำรวจ" กลุ่มที่ได้รับการเยียวยาจากที่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา ซึ่งคณะอนุ ก.ตร.กฎหมาย ที่มี พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน มีมติให้เยียวยาตำรวจที่ต้องเยียวยาตามมติ คณะอนุ ก.ตร. อุทธรณ์ร้องทุกข์ ชุด พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีความเห็นไว้สมัยดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.
คำสั่งแต่งตั้ง “นายพัน” สีกากี เก้าอี้ “สารวัตร(สว.)-รองผู้บังคับการ(รองผบก.)” วาระประจำปี 2558 ที่ว่ากันว่าเป็นคำสั่ง “ลับ ลวง แหล” ไม่มีอะไรชัดเจน ไม่มีอะไรแน่นอน ทุกตำแหน่ง ทุกเก้าอี้ ล้วนเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน สุดท้ายก็เสร็จสิ้นเรียบร้อยแบบทุลักทุเล แบบสุ่มเสี่ยงขัดระเบียบ ข้อกฎหมาย ชนิดที่เชื่อว่า
“คำสั่งจบ” แต่สีกากีบางส่วน “ไม่น่าจะจบ” ขนาดแม่ทัพใหญ่ตำรวจ “บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่ได้รับดาบอาญาสิทธิ์จากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 และการอนุมัติจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) มอบอำนาจตามมาตรา 56 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับ “นายพัน” ยังรับรู้ถึงสัญญาณทุกอย่างไม่น่าจะจบลงง่ายๆ จนต้องรีบออกตัวล้อฟรี
“ครั้งนี้หากจะฟ้องร้อง ให้ฟ้องที่ ผบ.ตร. แต่ถ้าไม่มีการฟ้องร้องเลยผมว่าดี ขอให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ที่ย่อมติดขัดบ้าง เหมือนรองเท้าซื้อมาใหม่ใส่แล้วกัดเท้าบ้าง แต่เดี๋ยวจะสวมสบาย" พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยังยืดออกแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศเสียงดังฟังชัด...
“ข้อบกพร่องทั้งหลายไม่ว่าเกิดจากฝ่ายธุรการ หรือกำลังพลตนยินดีรับผิดชอบคนเดียว ความล่าช้าที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะมีการวิ่งเต้นเป็นการล่าช้า เพราะขั้นตอนธุรการ พิมพ์ชื่อผิดอย่างการแต่งตั้งคนที่เสียชีวิตแล้วตนยังถูกแซวเลย ขออภัยทุกท่านที่ปล่อยให้รอ”
ดูเหมือนท่าทีสีกากีบางส่วน ไม่ได้ติดใจหรือหยิบยกประเด็นความผิดพลาดในขั้นตอนธุรการ ทั้งการพิมพ์ชื่อผิด การพิมพ์ตำแหน่งซ้ำซ้อน หรือการแต่งตั้งตำรวจที่เสียชีวิตไปดำรงตำแหน่ง อย่างกรณีในคำสั่งที่ 344/2559 ในลำดับที่ 87 แต่งตั้ง พ.ต.ท. บุญญฤทธิ์ ไทมโนธรรม รอง ผกก.จร.สน.บางนา ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ไปดำรงตำแหน่ง รอง ผกก.ป.สน.คันนายาว มาเป็นประเด็น เพราะขั้นตอนด้านธุรการสามารถตกหล่น
น่าเชื่อว่า ตำรวจจำนวนหนึ่งจะไม่ยอมจบง่ายๆ และน่าจะมีการฟ้องร้อง ขึ้นโรง ขึ้นศาล น่าจะเป็นเรื่อง “นโยบายการแต่งตั้ง” โดยเฉพาะ "ตำรวจ" กลุ่มที่ได้รับการเยียวยาจากที่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา ซึ่งคณะอนุ ก.ตร.กฎหมาย ที่มี พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน มีมติให้เยียวยาตำรวจที่ต้องเยียวยาตามมติ คณะอนุ ก.ตร. อุทธรณ์ร้องทุกข์ ชุด พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีความเห็นไว้สมัยดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.
ตรวจแถวรายชื่อที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย “นายพัน” ครั้งนี้ ไม่มีใครได้รับ “สิทธิ” เยียวยาตามมติ อนุ ก.ตร. แต่อย่างใด ตำรวจกลุ่มเยียวยาบางคนที่มีการโยกย้ายล้วนมาจากฝีมือ “วิ่ง” ส่วนตัวทั้งสิ้น และก็ไม่ได้กลับตำแหน่งเดิมหรือสังกัดเก่า ส่วนกลุ่มใหญ่ไม่มีใครขยับขยายโยกย้ายใดๆทั้งสิ้น ทำให้แนวโน้มตำรวจกลุ่มนี้น่าจะยื่นเรื่องฟ้องร้อง เพื่อทวงคืนสิทธิที่ควรได้กลับมา
ยิ่งเงื่อนไขที่ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ยื่นขอความเห็นต่อ ก.ตร. ใช้อำนาจตาม มาตรา 56 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ให้สิทธิ ให้อำนาจ ผบ.ตร.ในการจัดการแต่งตั้งเหนือผู้บัญชาการ (ผบช.) 1 ใน 5 ข้อ อ้างเรื่อง ความจำเป็นพิจารณากรณีที่การเยียวยาต่างๆ ที่ยัง ไม่เรียบร้อยต้องทำเป็นมาตรฐานเดียวกันให้ชัดเจน แต่กลุ่มเยียวยาตามมติ อนุ ก.ตร.ดังกล่าว กลับไม่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย
ทั้งๆ ที่ตามกฎกำหนดให้ผู้ได้รับเยียวยาต้องได้รับการแต่งตั้งกลับคืนตำแหน่งเดิม ในโอกาสแรกของการแต่งตั้งทันที รวมทั้งผลการตัดสินจาก อนุ ก.ตร. มีผลมาตั้งแต่ปลายปี 58 การแต่งตั้งครั้งนี้จะเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีคำสั่งคสช. ก็ไม่มีผลลบล้างด้วย เพราะคำสั่งออกภายหลังจะมีผลย้อนหลังในทางเป็นโทษไม่ได้
การที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ไม่ดำเนินการให้กลุ่มเยียวยาดังกล่าว ในคำสั่งแต่งตั้ง สว.-รองผบก.วาระประจำปี 2558 ครั้งนี้ ก็สุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และอาจเป็นช่องทางให้ตำรวจที่เสียสิทธินำไปยื่นเรื่องฟ้องร้องศาลเพื่อให้พิจารณาตามความผิด
อีกหนึ่งส่วนที่อาจจะไปยื่นฟ้องร้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็คือตำรวจที่ถูกโยกย้ายจากตำแหน่งเดิมไม่เป็นธรรม เช่นไปอยู่ตำแหน่งที่ห่างไกล แม้จะไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินการอะไรเกี่ยวกับการถูกโยกย้ายได้ เพราะ ผบ.ตร. ได้รับมอบอำนาจสิทธิ์ขาดในการแต่งตั้ง ตามมาตรา 44 ของคสช. และมาตรา 56 ของพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อาจอาศัยช่องว่าง อาศัยช่องโหว่ การบริหารจัดการแต่งตั้ง สว.-รองผบก.ครั้งนี้ ที่ผิดพลาด สับสน วุ่นวาย ทุกๆอย่างไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไข ตามข้อกำหนด
เพราะตามคำสั่งของ ผบ.ตร. กำหนดให้การแต่งตั้ง สว.-รองผบก.วาระประจำปี 2558 มีผลบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 19 พ.ค. แต่จนถึงสิ้นเดือนพ.ค. คำสั่งแต่งตั้งก็ยังประกาศออกมาไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อย ตำรวจที่มีชื่อในการแต่งตั้งยังไม่สามารถเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ได้ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องว่างให้ ตำรวจ บางกลุ่มนำไปฟ้องร้องในเรื่องสิทธิที่หายไปตั้งแต่วันที่คำสั่งมีผล โดยเฉพาะในเรื่องเงินประจำตำแหน่ง และสิทธิอื่นๆ
อย่างไรก็ดี คงต้องรอดูใบปะหน้าคำสั่งแต่งตั้ง ที่ผบ.ตร.จะออกมา เพื่อให้ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งนำใบส่งตัวไปรายงานตัวต่อต้นสังกัดเก่า จะระบุวันที่คำสั่งแต่งตั้งมีผลบังคับใช้จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้งานบริหารจัดการที่ผิดพลาดตลอดระยะเวลาการทำคำสั่งแต่งตั้ง “นายพัน” ครั้งนี้ มีผลบังคับใช้ใหม่หรือไม่ หากยังยึดตามเดิม หรือไม่มีมาตรการอะไรออกมาป้องกัน งานนี้ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ เหนื่อยแน่