MGR Online - ศาลไต่สวนพยานจำนำข้าวนัดที่ 9 คดีโครงการรับจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” เผย ยุโรปอยากเห็นไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ขณะที่อัยการเบิกความ “วิศิษฐ์ - สุพจน์” จนท. ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุ พยาน 6 ปากที่ได้สอบน่าเชื่อถือ เคยทำหนังสือข้อเสนอแนะ 2 ครั้ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้เพิ่มประสิทธิภาพป้องกันการทุจริตจากการแทรกแซงผลผลิต
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 พ.ค. 59 นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่ 9 คดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะผู้แทนรัฐสภายุโรปเข้าพบเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า สืบเนื่องจากที่ทางรัฐสภายุโรปทำหนังสือเชิญมาแต่ตนไม่สามารถไปได้จึงเดินทางมาพบ เบื้องต้นได้หารือกันเรื่องสถานการณ์การเมือง ซึ่งทางรัฐสภายุโรปได้แสดงความห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และอยากเห็นการลงประชามติเป็นไปอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีการถกเถียงเนื้อหาอย่างเต็มที่ และอยากเห็นไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วส่วนเรื่องคดีโครงการรับจำนำข้าวคณะผู้ทราบข่าวเป็นระยะอยู่แล้ว ตนเองก็ไม่ได้พูดอะไรมากมาย เพราะคดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณา
เมื่อถามว่า ทางรัฐสภายุโรปได้แสดงความต้องการขอเข้ามาสังเกตการณ์ช่วงการทำประชามติหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องไปหารือกับทางรัฐบาล ซึ่งทางเขาก็มีความห่วงใย และยินดีให้ความร่วมมือทุกอย่าง และในฐานะมิตรประเทศที่มีการค้าขายกับอียู เขาก็อยากเห็นประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนการลงประชามติรวมถึงการเลือกตั้งก็อยากให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ สำคัญคือทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับต่อประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ระบุว่า ไทยไม่ใช่เมืองขึ้นของใคร จึงไม่ต้องสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติว่า ไม่ได้มองว่าเราเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ถ้าเราจะอยู่ในหลักสากลที่จะให้นานาประเทศยอมรับ เราก็ต้องทำอะไรที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทุกคนยอมรับ เราจะทำอย่างเดียวโดยที่ไม่มองคนอื่นไม่ได้ แน่นอนว่าประเทศไทยพึ่งการส่งออกถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เราจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และหลาย ๆ ประเทศที่เขามองเราเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาก็กังวลในเรื่องนี้ ถ้าเราสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ ตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดแนวทางที่ต่างชาติยอมรับ การค้าขายต่าง ๆ การไปมาหาสู่ ความสัมพันธ์กับนานาก็จะดีขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนมอง
ส่วนสถานการณ์ 2 ปีหลังการทำรัฐประหาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดอะไรมากกว่านี้ เพราะผ่านมา 2 ปีแล้ว เป็น 2 ปี ที่ทุกคนเฝ้าตั้งตารอให้อำนาจกลับคืนสู่ประชาชน ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว มีสิทธิ เสรีภาพ เราไม่อยากให้ 2 ปีนี้ เป็น 2 ปีที่สูญเปล่า ส่วนกรณีที่ กกต. เตรียมเชิญทุกพรรคการเมืองร่วมรับฟังร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 พ.ค. นี้ นั้น เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมือง และผู้ที่เห็นต่างได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งเรื่องกติกาต่าง ๆ ก็ควรจะมีความชัดเจน เพื่อให้ความคิดต่าง ๆ ได้ถูกถ่ายทอดออกไป และทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ ส่วนปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน จะทำให้กระบวนการปรองดองล่าช้าหรือไม่นั้น มองว่า การปรองดองเป็นส่วนหนึ่ง บรรยากาศการให้ความเสมอภาค ความยุติธรรมกับทุกคน สิทธิ เสรีภาพ ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน
โดยในวันนี้ อัยการโจทก์ได้นำ นายวิศิษฐ์ ตันอารีย์ และนายสุพจน์ ศรีงามเมือง อนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว ของ ป.ป.ช. เป็นพยานขึ้นเบิกความสรุปว่า ผู้ร้องได้ร้องเรียนให้ป.ป.ช. ตรวจสอบโครงการจำนำข้าวและระบายข้าว โดยได้ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว และเมื่อพยานได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการไต่สวนก็ได้สอบสวนพยานและไต่สวนในประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ ยอมรับว่า ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในสำนวนโครงการจำนำข้าวก่อนชี้มูลความผิดสำนวนระบายข้าว และแม้การแสวงหาข้อเท็จจริง ป.ป.ช. ได้สอบพยานเพียง 6 ปาก แต่พยานมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ป.ป.ช. สามารถใช้ดุลพินิจสรุปรายงานและสำนวนความเห็นส่งให้ประธานรัฐสภาได้ ส่วนที่ไม่ได้สอบพยานผู้ถูกร้องอีก 6 ปากที่ยื่นมาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 57 ก่อนที่มีมติถอดถอน ป.ป.ช. อาจยังไม่ได้พิจารณาในส่วนนี้
ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ตอบการซักค้านของทนายจำเลยด้วยว่า ป.ป.ช. เคยมีหนังสือเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 54 นำข้อมูลโครงการจำนำข้าวปี 2548 - 2549 เสนอแนะรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาประกอบการบริหารจัดการและกำหนดแนวทางที่จะดำเนินโครงการ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลจำเลยได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเกี่ยวกับโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มโครงการ ซึ่งการยื่นหนังสือก็เป็นนัยยะสำคัญที่จะให้รัฐบาลรับทราบข้อมูล หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเสนอแนะก็ไม่มีผลผูกพัน แต่ก็ปรากฏว่า รัฐบาลไม่ได้ทำตามข้อเสนอแนะ โดย ป.ป.ช. ยังมีหนังสือฉบับที่ 2 ส่งถึงรัฐบาลจำเลยเมื่อปี 2555 เพื่อให้มีประสิทธิภาพป้องกันการทุจริต ซึ่งการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอแนะรัฐบาล ป.ป.ช. จะมีหน่วยงานที่ดำเนินการเมื่อมีนโยบายมาตรการแทรกแซงผลผลิต
ภายหลังไต่สวนพยาน 2 ปากเสร็จสิ้น ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ปาก นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังเบิกความไม่เสร็จเมื่อนัดที่แล้วมาไต่สวนอีกครั้งวันที่ 24 มิ.ย. นี้ เวลา 9.30 น. ทั้งนี้ ศาลได้ชี้แจงกับคู่ความ สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ว่า การพิจารณาคดีศาลได้กระทำอย่างเปิดเผย และได้ให้เกียรติคู่ความ สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีทุกคน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการนำคำถามและคำตอบของพยานที่มาเบิกความในห้องพิจารณาไปเผยแพร่ในสื่อ มิหนำช้ำยังมีคำเบิกความของพยานบางปากที่ศาลยังไม่ได้ถอดเทปคำพูด ถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อโดยมีการตัดข้อความบางส่วนออก ซึ่งการกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นการละเมิดอำนาจศาล ศาลจะให้เจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบผู้ผลิตการการเผยแพร่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาศาลด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โดยมีอดีตรัฐมนตรี แกนนำและอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรค นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส. อุบลราชธานี เป็นต้น พร้อมมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย