xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ร้อง ปธ.ศาลฎีกาเดินหน้าคดี ค้าน ป.ป.ช.เตรียมถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมปี 51

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อดีตแกนนำพันธมิตรฯ พร้อมทนาย ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อประธานศาลฏีกาเดินหน้าทำคดี พร้อมคัดค้าน ป.ป.ช.เตรียมถอนฟ้องคดีคำสั่งสลายการชุมนุมปี 51 ย้ำ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ไม่เปิดช่องให้ถอนฟ้องคดี

วันนี้ (18 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ นายนิติธร ล้ำเเหลือ ทนายความกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา และองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อร้องขอความเป็นธรรมในการพิจารณาดำเนินคดีคำสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 โดยนายเรวัต เฉลียวศิลป์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

นายพิภพกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาแล้ว เนื่องจากผู้บาดเจ็บของกลุ่มพันธมิตรฯ ในเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เห็นด้วยที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ป.ป.ช.จะถอนฟ้องคดีคำสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และแม้ว่าเมื่อวานที่ผ่านมาจะมีข่าวว่าคณะทำงานของ ป.ป.ช.จะไม่เห็นควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดี

แต่ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ เป็นประธาน ป.ป.ช.จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร จึงต้องมาขอความเป็นธรรม เพราะทางกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เห็นด้วยในการถอนฟ้องคดีออกจากสารระบบ จึงอยากให้ศาลฎีกาพิจารณาเหตุผลตามที่ทางกลุ่มได้แนบเอกสารมา ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่ามีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แต่หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติถอนฟ้องก็ต้องมาพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

นายพิภพยังกล่าวอีกว่า อยากให้มาเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี นำหลักฐานมาแสดงกันในศาลมากกว่า พร้อมเชื่อว่าถ้า ป.ป.ช.มีมติไม่ถอนฟ้องจะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างเต็มที่

ด้านนายนิติธรกล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับประธาน ป.ป.ช.ว่าจะพิจารณาและมีมติอย่างไรในวันที่ 26 พ.ค.นี้ ขณะเดียวกันก็มองว่าเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่คณะทำงานมีความเห็นไม่ควรถอนฟ้อง และย้ำว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช.ก็ไม่เปิดช่องให้สามารถถอนฟ้องคดีได้ด้วย

 โดยหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.๒/๒๕๕๘ และต่อ ประธานศาลฎีกา ระบุว่า ตามที่อ้างถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 295 และมาตรา 302 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เริ่มทำการไต่สวนพยานโจทก์ปากนายวีระ สมความคิด ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559

ต่อมาจำเลยได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ ปปช. อ้างว่ามีหลักฐานใหม่และขอให้พิจารณาถอนฟ้องคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป.ป.ช. จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. กลับไปพิจารณาถึงเหตุผลในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่จำเลยอ้างมา คือ เหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้และการนำคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ ป.ป.ช. ยกคำร้องมาเทียบเคียงว่า ฟังขึ้นหรือไม่ ในการถอนฟ้องคดีนี้ตามที่จำเลยขอมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่สมควรถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า เหตุผลที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรมสามารถนำไปยื่นให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไต่สวนเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว อีกทั้งหาก ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีดังกล่าว อาจเข้าข่ายกระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่และถูกฟ้องคดีเสียเอง แต่ ป.ป.ช. กลับมีการส่งเรื่องไปให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทบทวน โดยให้ยึดเรื่องการเปรียบเทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 และปี 2553 เป็นหลัก และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

จากกรณีข้างต้น ข้าพเจ้านายพิภพ ธงไชย นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ และบุคคลที่มีรายนามท้ายหนังสือฉบับนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เห็นว่าการกระทำการใดๆ ของ ป.ป.ช. อันเป็นการริเริ่มและมีผลเป็นการถอนฟ้องคดีข้างต้น จักทำให้ข้าพเจ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ด้วยเหตุผลว่า

คดีนี้ ป.ป.ช ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย พล.อ.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 295 และมาตรา 302 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาและปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลย

การที่ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวและจะดำเนินการเพื่อขอถอนฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งและเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย เพราะหากมีการขอถอนฟ้องคดีนี้จริง อาจทำให้คดีเป็นอันยุติไปโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ความจริงอีกต่อไปว่าจำเลย ได้กระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ ทั้งที่คดีนี้ ป.ป.ช. ชุดก่อนได้ใช้ระยะเวลาในการ ไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานนานถึง 7 ปีเศษ ก่อนที่จะยื่นฟ้องจำเลย เป็นคดีนี้ และปัจจุบันคดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแล้ว การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นของ ป.ป.ช. อาจถือได้ว่าเป็นการทำลายหลักความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนพึงจะได้รับจากรัฐ ทำให้ข้าพเจ้าและประชาชนทั่วไปเคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. เป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุผลอันใดที่ ป.ป.ช.จึงต้องขอถอนฟ้องคดี ทั้งๆ ที่คดีนี้ ป.ป.ช. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง

อีกทั้ง จากเหตุการณ์เดียวกันนี้ ข้าพเจ้านายชิงชัย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 250 คน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 โดยสรุปใจความสำคัญของคำพิพากษาได้ว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับพฤติการณ์ แห่งคดีจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทั้งพยานบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและจากฝ่ายที่มิได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามรายงานการตรวจสอบที่ 519/2551 วันที่ 15 ธันวาคม 2551 ต่างยืนยันสอดคล้องต้องกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นับแต่เวลา 05.00 - 24.00 น. ได้นำอาวุธปืน วัตถุระเบิดชนิดต่างๆ อันมีอันตรายโดยสภาพมาใช้ในการสลาย การชุมนุม โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานของสากล ซึ่งต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ จึงจะใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก โดยใช้โล่กำบังผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม หากไม่ได้ผลจึงจะใช้มาตรการฉีดน้ำ จากรถดับเพลิง ซึ่งมีความแรงพอที่จะผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกจากเป้าหมายที่ประสงค์จะเปิดทางได้ หากใช้น้ำฉีดไม่ได้ผลจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา ทั้งสามขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จำต้องประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบก่อน

แต่พยานกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน ผู้ร้องสอด กลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มเจ้าหน้าที่พยาบาลและทีมแพทย์สนามยืนยันว่าไม่ได้ยินเสียงประกาศแจ้งเตือนแต่อย่างใดและไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ใช้มาตรการในการควบคุมผู้ชุมนุมจากเบาไปหาหนักตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับอาวุธที่นำมาใช้ล้วนแต่เป็นอาวุธอันตรายโดยสภาพและนำมาใช้สลายกลุ่มผู้ชุมนุมโดย ไม่เป็นไปตามมาตรการฐานสากล จึงเห็นว่าการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการกระทำโดยจงใจกระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน ผู้ร้องสอดที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 10 อย่างร้ายแรง ทำให้ผู้ร่วมชุมนุม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคนและผู้ร้องสอดได้รับอันตรายถึงชีวิต บาดเจ็บสาหัส และได้รับอันตราย แก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคนและผู้ร้องสอดแล้ว และการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย หากเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้กระทำตามคำสั่งพลตำรวจเอกพัชรวาท และ พลเอกชวลิต ภายใต้แผนกรกฎ/48 เมื่อเกิดความเสียหาย แก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย ของผู้ร่วมชุมนุม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน และผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของนายสมชาย พลเอกชวลิต และพลตำรวจเอกพัชรวาท จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติคำสั่งและแผนปฏิบัติการกรกฎ/48 โดยเฉพาะเมื่อพิเคราะห์ถึงการสลาย การชุมนุมซึ่งเกิดตั้งแต่เช้าจรดค่ำรวม 4 ครั้ง ทั้งนายสมชาย ขณะเข้าแถลงนโยบายได้ทราบจากนางสาวรสนา โตสิตระกูล และ นายประสงค์ นุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภาซึ่งลุกขึ้นคัดค้านการแถลงนโยบายของนายสมชาย ขณะที่ด้านนอกสภามีการสลายการชุมนุมด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาและทำให้ประชาชนบาดเจ็บกันนับร้อยคน แต่นายสมชาย หาได้ให้ความใส่ใจไม่และแม้จะมีการประชุมสภาแล้วเสร็จเมื่อเวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังคง ใช้กำลังและอาวุธสลายการชุมนุม เป็นครั้งที่ 2 - 4 นายสมชาย พลเอกชวลิต และพลตำรวจเอกพัชรวาท ซึ่งรับทราบข่าวสารการสลายการชุมนุมและมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากจนถึงขั้นเสียชีวิต ในเวลาประมาณ 16.00 น. และ 19.00 น. บุคคลทั้งสามผู้มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและจะเป็นผู้บริหารประเทศกลับมิได้สนใจใยดีหรือสั่งห้ามการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

เจือสมกับข้อเท็จจริงที่ป.ป.ช. สอบสวนและมีความเห็นว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของนายสมชาย พลเอกชวลิต และพลตำรวจเอกพัชรวาท เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบสวนและมีความเห็นว่า บุคคลทั้งสามกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา และละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดตามที่นายสมชาย พลเอกชวลิต สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และพลตำรวจเอกพัชรวาท สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติเพื่อสลายการชุมนุมตามขั้นตอนแผนกรกฎ/48 แต่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุดังได้วินิจฉัยมาโดยลำดับ อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 มาตรา 10 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

จากคำพิพากษาและคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงเป็นที่ปรากฏชัดว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งรวมถึง ตัวข้าพเจ้าด้วย

อนึ่ง ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันถึงกรณีนี้ว่า คณะทำงานมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่ควรถอนฟ้องในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องยื่นเข้ามาไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ นอกจากนี้ ได้ชี้แจงเหตุผลต่อข้อร้องเรียนเป็นข้อๆ จนเสร็จสิ้นข้อสงสัยแล้ว ทั้งนี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาเรื่องดังกล่าว กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ที่ประชุมของคณะทำงานในวันนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า จะเสนอแนวทางอย่างไร โดยให้เลขานุการของคณะทำงานฯ สรุปรายละเอียดและเรียบเรียงจัดทำเอกสาร เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานฯ ลงนามในมติดังกล่าว อีกครั้งในวันที่ 24 พ.ค.2559 ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 26 พ.ค.นี้อย่างเป็นทางการ

ด้วยเหตุผลดังที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนมาแล้วข้างต้น หาก ป.ป.ช. ดำเนินการ ขอถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จึงใคร่ขอประทานความเมตตาปรานีจากองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 ได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ด้วยจักเป็นพระคุณแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่งอันหาที่สุดมิได้ และเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมต่อไป





















กำลังโหลดความคิดเห็น