MGR Online - ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยคดี “อาหามะ มะอูเซ็ง” ถูกกล่าวหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ ชี้อัยการฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้โดยชอบแล้ว จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (18 พ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 714 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ ที่ อ.4208/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมาหามะสกรี มาหะ มะอูเซ็ง หรือนายอาหามะ มะอูเซ็ง อายุ 33 ปี ชาวจังหวัดยะลา เป็นจำเลยในความผิดฐานสะสมกำลังพล หรืออาวุธตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ, ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อกระทำการอันเป็นอั้งยี่, ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กระทำผิดฐานซ่องโจร, ผู้ใดร่วมประชุมกันของอั้งยี่หรือซ่องโจร
ตามฟ้องโจทก์บรรยายสรุปว่า เมื่อเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2545 จำเลยเป็นสมาชิก “มูจาฮีดีน” อิสลามปัตตานี เพื่อแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากการข่มขู่ กรรโชกทรัพย์ และมีอาวุธปืนเล็กกล HK-33 ขนาด .223 หลายกระบอก และอาวุธปืนเล็กกล อาก้า AK-47 ขนาด 7.62 มม.RUSSSIAN และกระสุนปืนจำนวนมากติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ ต.บุดี อ.เมือง และ ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา และตำบล-อำเภอใดไม่ปรากฏชัดในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเกี่ยวพันกัน จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์มาเบิกความยืนยัน ซึ่งมีน้ำหนักน้อยไม่อาจรับฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนหาข่าว และพนักงานสอบสวนเบิกความว่า เมื่อเดือน ก.พ. 2549 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทราบข่าวนายมาหามะสกรี จำเลยอยู่ในกลุ่มมูจาฮีดีนในระดับลูกแถว และเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกวางแผนยิงรถบดถนนเมื่อเดือน มิ.ย. 2545 ที่ จ.ยะลา ครั้งที่ 2 ร่วมวางแผนกับนายอาหามะ แมเร๊าะ หัวหน้ากลุ่มมูจาฮีดีน เมื่อเดือน ก.ค. 2545 เพื่อยิงรถบรรทุกไม้ยางพารา หลังจากนั้นอีก 10 วันวางแผนยิงรถบรรทุกหิน เพื่อเรียกค่าคุ้มครอง แต่ก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมและไม่ได้มีรายละเอียดว่าจำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มมูจาฮีดีนอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ โจทก์ได้อ้างบันทึกคำให้การของนายมะหะรง เต๊ะมาลอ พ่อเลี้ยงของจำเลยระบุว่าได้ทราบว่ามีการประชุมกันที่บ้าน แต่เมื่อพิจารณาจากบันทึกคำให้การแล้วเห็นว่านายมะหะรง พยานได้ให้การไว้หลังจากที่อ้างว่าจำเลยก่อเหตุแล้วถึง 2 ปี เป็นคำกล่าวให้การเพียงกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดในสาระสำคัญว่าจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างไรบ้าง ขณะที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าก่อนเกิดเหตุนายมะหะรง พยานเคยขโมยจักรยานยนต์ไปใช้ในช่วงที่จำเลยต้องเดินทางไปศึกษา นอกจากนี้ นายมะหะรงก็ยังเคยแจ้งความให้มาตรวจสิ่งผิดกฎหมายที่บ้าน แต่เจ้าหน้าที่ตรวจแล้วไม่พบ เมื่อโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์คงมีเพียงบันทึกคำให้การ ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า จึงมีน้ำหนักน้อยไม่อาจรับฟังมาลงโทษจำเลยได้ และยังมีเหตุความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่าคำให้การชั้นสอบสวนของนายมะหะรง เต๊ะมาลอรับฟังได้ เพราะเป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์และเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้วยตนเองโดยสมัครใจ แม้ภายหลังจะกลับคำให้การในชั้นศาลเพราะกลัวเป็นอันตรายต่อชีวิตและเสรีภาพนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้โดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ด้านนายมาหามะสกรี หรือนายอาหามะ กล่าวว่า ดีใจกับคำพิพากษาของศาล คดีนี้เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี 2547 เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมก็ถูกคุมขังมาตลอด เพิ่งได้รับการปล่อยตัวภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้อง