xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้อง “ศักดิ์ชัย กาย” เบิกเงินกรุงไทย 158 ล้าน หลักฐานไม่พอพิสูจน์ปลอมใบถอนเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลยกฟ้อง “ศักดิ์ชัย กาย” คดี พล.ต.ต.เพ็ชร์ ณ ป้อมเพ็ชร์ ยื่นฟ้องฐานปลอมเอกสารถอนเงินจากแบงก์กรุงไทย 158 ล้านบาท ก่อนฝากเข้าบัญชีตัวเอง เมื่อปี 43 ชี้หลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่ามีการปลอมใบถอนเงิน

ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 31 มี.ค. ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1201 /2557 พล.ต.ต.เพ็ชร์ ณ ป้อมเพ็ชร์ โดย น.ส.นพมาศ ณ ป้อมเพ็ชร์ ฐานะผู้อนุบาล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศักดิ์ชัย กาย เป็นจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม รวมเป็นเงิน 158,330,000 บาท ซึ่งจำเลยให้ปฏิเสธ

คำฟ้องโจทก์สรุปว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2543 จำเลยได้ปลอมใบถอนเงิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีลายมือชื่อของโจทก์แล้วนำไปถอนเงินจำนวนทั้งสิ้น 158,330,000 บาทในรูปของแคชเชียร์เช็คและนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 264, 266, 268

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้ ต่อเมื่อเป็นการกรอกข้อความลงในเอกสารโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือฝ่าฝืนคำสั่งจากโจทก์และนำไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งจากคำเบิกความของ น.ส.นพมาศ ณ ป้อมเพ็ชร์ พยานโจทก์เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดเนื่องจากได้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของโจทก์พบว่า ยอดเงินในบัญชีลดลงเหลือเพียงเล็กน้อย ภายหลังที่พยานได้รับคำสั่งจากศาลเยาวชนฯ ให้เป็นผู้อนุบาลโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยบอกเล่าการกระทำของจำเลยให้พยานฟังโดยตรงด้วยตนเอง หรือเคยโต้แย้งการเบิกถอนเงินจำนวนมากออกจากบัญชีของโจทก์ และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมของโจทก์และจำเลยแล้ว ฟังได้ว่า พล.ต.ต.เพ็ชร โจทก์และจำเลยมีความสนิทสนมกันมาก ถึงขนาดโจทก์รักและไว้ใจจำเลยมอบหมายให้ดูแลจัดการทุกอย่างภายในบ้าน รวมทั้งดูแลเรื่องการเงินมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2553

นอกจากนี้ โจทก์และจำเลยยังมีพนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาศรีนครินทร์ เบิกความเกี่ยวกับวิธีการสั่งจ่ายเงินตามใบถอนเงินว่า กรณีที่ไม่มีการมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้มาเบิกถอนเงิน เจ้าของบัญชีจะต้องมาเบิกถอนด้วยตัวเอง ส่วนใบถอนเงินนั้นจะกรอกข้อความให้ก็ได้ แต่เจ้าของบัญชีจะต้องลงลายมือชื่อด้วยตัวเอง โดยธนาคารจะเป็นผู้ตรวจสอบลายมือชื่อในใบถอนเงินเปรียบเทียบกับตัวเองลายมือชื่อที่เจ้าของบัญชีเคยให้ไว้ตอนเปิดบัญชีเงินฝาก หากตรงกันธนาคารก็จะจ่ายเงินให้ แสดงให้เห็นว่าขั้นตอนการถอนเงินมีความเข้มงวด ขณะที่ น.ส.นพมาศก็ไม่มีหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ในการถอนเงินมาแสดงต่อศาล ทั้งที่สามารถขอได้จากธนาคาร แสดงให้เห็นว่าในการเบิกถอนเงินดังกล่าวโจทก์ได้เดินทางไปเบิกเงินด้วยตัวเอง จึงยังไม่พอฟังได้ว่าเป็นใบถอนเงินปลอม และที่ น.ส.นพมาศเบิกความว่า ช่วงขณะเกิดเหตุจำเลยได้ดูแลโจทก์ซึ่งป่วยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ก็มีเพียงประวัติการรักษาที่ระบุว่าโจทก์เข้ารักษาในโรงพยาบาลหลายครั้ง พยานหลักฐานดังกล่าวไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าโจทก์ป่วยถึงขั้นไม่ยินยอมให้ผู้อื่นกรอกข้อความในใบถอนเงินและเช็คตามฟ้องอย่างไร ส่วนใบรับรองแพทย์ที่ว่าไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ก็เป็นเพียงหนังสือที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2555 ภายหลังเกิดเหตุแล้วหลายปี ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อพิจารณาความผิดของจำเลยได้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์มอบทรัพย์สินส่วนมากให้จำเลย

ประกอบกับคำเบิกความของแพทย์ที่รักษาโจทก์และเอกสารใบรับรองแพทย์ระบุว่า วันที่มอบทรัพย์ให้นั้นโจทก์มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และทำหนังสือแสดงเจตนาตามความประสงค์ของโจทก์จริง เชื่อว่าการจ่ายเงินเป็นไปตามความประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชี พยานโจทก์ไม่อาจฟังได้ว่าเช็คและใบถอนเงินเป็นเอกสารปลอม และเมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าเช็คและใบถอนเงินเป็นเอกสารปลอม ดังนั้น ไม่ว่าผู้ใดจะนำไปใช้แสดงต่อธนาคารก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่ได้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอม พิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยยังได้ขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าใบถอนเงินเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคารซึ่งเป็นเอกสารสิทธิตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ไม่ใช้ตั๋วเงิน การพิจารณาว่าการอายุความหรือไม่ จึงพิจารณาถึงอายุความสูงสุดที่จะลงโทษจำเลยได้ ซึ่งความผิดนี้มีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 5 ปี และมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิด แต่เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลอมเอกสารเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2543 และวันที่ 26 ธ.ค. 2543 แต่นำมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2557 จึงเป็นการฟ้องที่ขาดอายุความแล้ว และมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคำฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามมาตรา 264 วรรคสองหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารโดยการกรอกข้อความลงในถอนเงินที่มีชื่อโจทก์ แต่ก็ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และไม่ได้ระบุว่าจำเลยนำไปใช้เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือผู้ใด คำฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ด้วย

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น