xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอปราบผู้บุกรุกป่าสงวน จ.เพชรบูรณ์ 700 ไร่ มูลค่าเสียหายร่วม 32 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ดีเอสไอ” แถลงผลปราบปรามผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ จ.เพชรบูรณ์ รวมเนื้อที่กว่า 700 ไร่ ดำเนินคดีผู้ต้องหา 21 ราย มูลค่าความเสียหายราว 32 ล้านบาท

วันนี้ (24 มี.ค.) เวลา 10.00 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.ศักกพล สุขปาน รอง ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงผลการปราบปรามผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่กว่า 700 ไร่ ใน จ.เพชรบูรณ์ พร้อมดำเนินคดีผู้กระทำผิดทั้งหมด 21 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 32 ล้านบาท

พ.ต.ต.วรณันเปิดเผยว่า จากนโยบายการป้องกันปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมที่ต้องการทวงคืนผืนป่ากลับมาเป็นของรัฐ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 คดีในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ สำหรับคดีแรก เจ้าหน้าที่ดีเอสไอร่วมกับกรมป่าไม้ตรวจสอบพบว่าเมื่อปี 2548 มีกลุ่มนายทุนจากทางภาคใต้ทั้งหมด 8 คนสนใจที่ดินทางภาคเหนือ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อต้องการปลูกยางพารา จากนั้นได้รู้จักกับอดีตกำนันในพื้นที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ นายหน้าติดต่อขอซื้อที่ดินมือเปล่าที่มีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) จากราษฎรในพื้นที่ ต.ศิลา อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ต่อมาได้มีการซื้อขายที่ดินให้กับกลุ่มนายทุนเข้าครอบครองโฉนดที่ดิน 25 แปลง เนื้อที่ประมาณ 700 ไร่เศษ

พ.ต.ต.วรณันกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จ.เพชรบูรณ์ได้ออกประกาศลงวันที่ 19 พ.ย. 2548 เรื่องกำหนดท้องที่ที่จะทำการและวันที่เริ่มต้นเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้รับคำสั่งจากกรมที่ดินให้เดินสำรวจในโครงการดังกล่าวและออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ” ต.ศิลา อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ให้แก่กลุ่มนายทุน ทางดีเอสไอจึงรับเป็นคดีพิเศษและได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้กระทำผิดจำนวน 14 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 6 ราย ส่วนผู้ครอบครองที่ดิน 8 ราย ทั้งนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องคืนให้ดีเอสไอเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายเสร็จสิ้นเรียบร้อย มูลค่าความเสียหายประมาณ 29 ล้านบาทเศษ

“สำหรับผลการสอบสวนโฉนดที่ดินทั้ง 25 แปลง พบว่ามีการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากภาพและสถานะของที่ดินอยู่ในหลักเกณฑ์ต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนี้ 1. อยู่ในพื้นที่เขตภูเขา หรือปริมณฑลรอบภูเขา 40 เมตร ทุกแปลง และอยู่บนพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ ห้ามออกเอกสารสิทธิเด็ดขาด ยกเว้นโฉนดที่ดินเลขที่ 27430 2. โฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติบางส่วน และ 3. ตามกฎหมายก่อนปี พ.ศ. 2497 การทำมาหากินต้องมีร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่ แต่จากผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ ก่อนปี พ.ศ. 2497 พบว่ามีสภาพเป็นป่าผลัดใบทั้งแปลง เท่ากับเป็นการออกโฉนดทับลำห้วยและทางสาธารณเกินกว่าพื้นที่ทำประโยชน์” พ.ต.ต.วรณันกล่าว

พ.ต.ต.วรณันกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกคดีจากกรณีมีผู้ร้องเรียนพบการปลูกสร้างรีสอร์ตในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาปางก่อ และป่าวังชมภู อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อันเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ โดยพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กเกิดขึ้นเนื่องมาจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2508 ซึ่งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอาศัยพื้นที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ กองทัพบกได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบในการปราบปรามจึงมีแนวคิดที่จะลดความขัดแย้ง โดยจัดตั้ง “กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก” มีงานหลักในการก่อสร้างถนนลาดยาง ฝึกอบรมและติดอาวุธราษฎร อาสาสมัคร จัดระเบียบพื้นที่ และจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรยากไร้ รวมทั้งจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

พ.ต.ต.วรณันกล่าวปิดท้ายว่า สำหรับพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ไม่ได้มีการจัดสรรหรืออนุญาตให้ ราษฎรอาสา (รอส.) หรือบุคคลใดเข้าใช้ประโยชน์ แต่ได้จัดให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่า เขาปางก่อ และป่าวังชมภู ซึ่งจากการตรวจสอบปรากฎว่ามีการบุกรุกยึดถือครอบครองโดยมีการก่อสร้างอาคารและบ้านพักตากอากาศ จำนวนหลายแห่งในพื้นที่ ประมาณ 150 ไร่ ใน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ต่อมาหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าวได้ร้องทุกข์ และทางดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ 7 คดีในพื้นที่ 20 ไร่ จากพื้นที่ 150 ไร่ ปัจจุบันได้ดำเนินการสั่งฟ้องผู้กระทำผิดไปแล้ว 5 คดี เหลืออีก 2 คดีใกล้จะดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 130 ไร่ นั้น ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เขาค้อ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรายอื่นๆ ด้วย ความเสียหายคดีนี้ประมาณ 3 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่มีการปลูกสร้างรีสอร์ตนั้น ดีเอสไอเตรียมส่งเรื่องให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น