xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สุ่มตรวจฟาร์มสุกรนครปฐม พบใช้สารเร่งเนื้อแดง แถมต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตเข้าเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กองปราบฯ ผสานกำลังทหาร-กรมปศุสัตว์ เข้าฟาร์มขนาดใหญ่ จ.นครปฐม พบผิดใช้แรงงานต่างด้าวฐานไม่มีอนุญาต แถมตรวจฉี่สุกรในฟาร์มพบสารเร่งเนื้อแดงปนในร่างกาย พร้อมอายัดหมูทั้งหมด แจ้งขอหา 3 กระทงต่อเจ้าของ ขณะที่แพทย์ระบุผลข้างเคียงสารเนื้อแดงส่งผลให้เป็นมะเร็ง เป็นอันตรายต่อโรคหัวใจ เบาหวาน

วันนี้ (17 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. พ.ต.อ.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง ผกก.5 บก.ป. พ.ต.ท.พารินท์ จันทร์เลิศ รอง ผกก.5 บก.ป. พ.ต.ท.ต่อวงศ์ พิทักษ์โกศล สว.กก.5 บก.ป. พ.ต.ท.เหมจักร บุนนาค สว.กก.5 บก.ป. น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ ผอ.สำนัก พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์, น.สพ.สรยุทธ สีขาว นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมปศุสัตว์ ผสานกำลังตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กว่า 130 นาย บุกตรวจค้นแหล่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มสัตว์ที่ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในพื้นที่ จ.นครปฐม

โดยจุดแรกนำหมายค้นศาลอาญาเลขที่ 110/2559 ลงวันที่ 15 มี.ค. เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 125/1 หมู่ 11 ต.ทับยายท้าว อ.เมือง จ.นครปฐม บ้านดังกล่าวเป็นบ้านเดี่ยวสูง 2 ชั้น มีรั้วรอบขอบชิด ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ ด้านหน้าปลูกเป็นบ้านอาศัย และด้านหลังบ้านเป็นโกดังขนาดใหญ่ มีนางลมูล อินทวงษ์ อายุ 80 ปี รับเป็นเจ้าของบ้าน จากการตรวจค้นโกดังดังกล่าวไม่พบยาเร่งเนื้อแดง แต่พบมันสำปะหลังชนิดอัดเม็ดซึ่งเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์อยู่จำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อทำไปการตรวจสอบหาสารดังกล่าวต่อไป

ต่อมาได้นำหมายค้นศาลอาญาเลขที่ 111/2559 ลงวันที่ 15 มี.ค. เข้าตรวจค้นโรงงานเอบีเจ ฟาร์ม เลขที่ 140 ม.1 ต.หนองดินแดง อ.เมือง จ.นครปฐม ฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิด มีสุกรอยู่ภายในฟาร์มเกือบ 10,000 ตัว และมีคนงานอยู่ภายในฟาร์มอีกกว่า 50 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานต่างด้าวเกือบทั้งหมด โดยมีนางกุศล ศรีสุขวัฒน์ อายุ 59 ปี แสดงตนเป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบเอกสารใบอนุญาตการเข้าเมืองและใบอนุญาตการทำงาน พบว่ามีจำนวนพนักงาน 42 คนกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว โดยแบ่งเป็นบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีและเข้าเมืองโดยไม่มีใบอนุญาตจำนวน 27 คน, บุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีอนุญาต 2 คน, บุคคลต่างด้าวอายุต่ำกว่า 18 ปี 5 คน, บุคคลต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี 1 คน และบุคคลต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงาน โดยผิดเงื่อนไขนอกพื้นที่ไม่ตรงตามที่ระบุ 8 คน อีกทั้งจากการตรวจสอบผลปัสสาวะของสุกรในฟาร์มดังกล่าว พบว่ามีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนอยู่ในสุกรเกินกว่าที่กำหนด เจ้าหน้าที่จึงทำการอายัดสุกรทั้งหมดไว้เพื่อป้องกันการลักลอบออกจำหน่ายให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ได้ขยายผลเข้าตรวจค้นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของบริษัทดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 122 ถ.ไร่เกาะต้นสำโรง ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจอาหารภายในโรงผลิตเพื่อทำการหาสารเร่งเนื้อแดง

ด้าน พ.ต.อ.ภูมินทร์กล่าวว่า การตรวจค้นครั้งนี้เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกรมปศุสัตว์ ในการตรวจสอบโรงงานผลิตอาหาร ฟาร์มสัตว์ เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามไม่ให้เนื้อสัตว์ดังกล่าวเข้าไปสู่ผู้บริโภค ทั้งนี้ จากการตรวจค้นพบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหาต่อนางกุศล เจ้าของโรงงานดังกล่าว ในฐานกระทำความผิด 1. เป็นนายจ้างรับบุคคลงานต่างด้าวซึ่งหลบหนีเข้าราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย 2. เป็นนายจ้างรับบุคคลต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน 3. เป็นนายจ้างรับบุคคลต่างด้าวที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เป็นลูกจ้าง ก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครปฐม ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่ น.สพ.สรยุทธกล่าวว่า สารเร่งเนื้อแดงส่วนใหญ่จะนิยมใช้สารซาลบูทามอล (Salbutamol) และเคลนบิวเทอรอล (Clenbuterol) โดยสารทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นสารเคมีในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (b-Agonist) ใช้มากในวงการผลิตยาบรรเทาโรคหอบ หืด มีจุดเด่นที่ช่วยขยายหลอดลม และช่วยให้กล้ามเนื้อขยายตัว คุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและวัวมีการลักลอบนำสารเร่งเนื้อแดงไปผสมกับอาหารสัตว์ เพื่อให้เนื้อสัตว์มีปริมาณเนื้อแดงมากขึ้น และมีน้ำหนักมากขึ้น การใช้สารเร่งเนื้อแดงถือว่าเป็นการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ และหากพบว่าใช้สารเร่งเนื้อแดงกับเนื้อสัตว์ ก็ถือว่าผิดกฎหมายตามมาตรา 6 (4) ตาม พ.ร.บ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ หากได้รับสารเร่งเนื้อแดงในระยะยาว และมีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ในร่างกาย ผู้บริโภคอาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียน ส่งผลให้เป็นโรคมะเร็งได้ ขณะเดียวกัน สารดังกล่าวซึ่งเป็นอันตรายมากต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

 
 







 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น