MGR Online - นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยลงพื้นที่เอสซีบีปาร์ค ดูห้องเก็บเอกสารขั้นใต้ดินจุดเกิดเหตุถังดับเพลิงไพโรเจนระเบิดคร่าคนงาน 8 ชีวิต ตั้ง 3 ข้อสงสัยทำไมทำงานทั้งที่ไม่มีเพลิงไหม้-ผู้เสียชีวิตมาก-ผู้เสียชีวิตหนีออกมาไม่ได้ ชี้ต่างประเทศอาจเคยเกิดเหตุแต่ไม่มีคนตายมากขนาดนี้
วันนี้ (14 มี.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ตึกเอสซีบีปาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก แขวงและเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. และ น.ส.บุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท. และคณะทำงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นห้องสำหรับเก็บเอกสารชั้นใต้ดินของอาคารดังกล่าวซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุถังดับเพลิงชนิดสารเคมีระเบิดจนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมชี้แนวทางเสนอแนะมาตรฐานการติดตั้งระบบดับเพลิงและการบริหารจัดการอาคารขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาการรักษาความปลอดภัยในเหตุฉุกเฉินของชุมชน สังคมและประเทศ
ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าวว่า วสท.ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงไปตรวจสอบพร้อมกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยข้อมูลที่ทราบจากวิศวกรเครือข่ายหลังมีการลงไปทำงานในชั้น บี 2 ที่เกิดเหตุซึ่งระบบดับเพลิงเป็นแบบไพโรเจน มีรูปร่างลักษณะคล้ายกระป๋องสี และเมื่อเกิดกลุ่มควันขึ้นมาระบบตรวจจับควันที่เรียกว่า สโมกดีเทกเตอร์จะส่งสัญญาณ จากนั้นจะมีเสียงกริ่งดังประมาณ 5 นาที ต่อมาจะมีการปล่อยไพโรเจนให้ทำงานในระบบไฟฟ้าซึ่งมีอนุภาคเป็นของแข็งโพแทสเซียมคาร์บอเนต และจะมีลักษณะของก๊าซอยู่ที่เป็นก๊าซไนโตรเจนและน้ำ หลังจากนั้นจะมีการทำปฏิกิริยากันจะทำให้มีก๊าซไปช่วยยุติการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในการเกิดความร้อนโดยไม่ใช้น้ำเลย ซึ่งก๊าซชนิดนี้นี้ไม่มีพิษรุนแรง บริษัทมีการโฆษณาว่าไม่มีการกำจัดออกซิเจน ทั้งมีความเป็นพิษต่ำ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ วสท.ต้องการหาคำตอบมี 3 ข้อ คือ 1. ทำไมระบบนี้ถึงทำงานทั้งที่ไม่มีการเกิดเพลิงไหม้ 2. ระบบทำงานมาแล้วโดยการส่งก๊าซทั้งที่ไม่มีไฟทำไมถึงเกิดผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย 3. บริษัทโฆษณาว่าไม่มีการกำจัดออกซิเจน แต่ทำไมมีผู้เสียชีวิต และทำไมถึงหนีออกมาไม่ได้ ซึ่งจะลงมาดูโดยเฉพาะมาตรการในห้องที่มีระบบคอมพิวเตอร์หรือห้องจัดเก็บข้อมูล อีกทั้งที่ผ่านมาได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่าไม่เคยเกิดเหตุลักษณะนี้
นอกจากนี้ยังศึกษาข้อมูลทั่วโลก อาจมีอุบัติเหตุลักษณะนี้บ้างแต่ไม่มีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ หากเกิดเพลิงไหม้ระบบไพโรเจนจะปล่อยก๊าซออกมาหมดถึงจะหยุดทำงานซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดความจุ
ทั้งนี้ ทีม วสท.กำลังลงพื้นที่ทำงานตรวจสอบอยู่ซึ่งจะมีการตรวจสอบ 3 ขั้นตอน คือ 1. ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายส่วน โดยขอข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ และการลงพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานในช่วงเช้า 2. ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจาการลงพื้นที่ 3. ขอความร่วมมือห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย โดยจะส่งสารเข้าห้องทดสอบซึ่งคาดว่าใช้เวลาไม่นานจึงจะทราบผล
ด้าน รศ.สิริวัฒน์กล่าวว่า ส่วนด้านโครงสร้างของอาคารไม่มีปัญหาอะไร ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดความร้อนสูงถึง 300-400 องศาเซลเซียลในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 วินาที คนที่ได้รับสัมผัสโดยตรงระยะประมาณ 10-20 เมตรทำให้หมดสติไม่เกิน 15 วินาที ก่อนที่จะเสียชีวิต การลงมาในวันนี้เพื่อศึกษา สร้างมาตรฐาน วิธีการปฏิบัติ การติดตั้ง การดูแลและข้อปฏิบัติอย่างไรต่อไป หลังจากนี้อาจจะออกเป็นแถลงการณ์ถึงข้ออันตรายและข้อควรปฏิบัติ