xs
xsm
sm
md
lg

“พงศพัศ” ชี้เกลี่ยตำแหน่งพนักงานสอบสวนเสร็จเชื่อไรปัญหา พร้อมแต่งตั้งตามวาระปี 58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ
MGR Online - “พล.ต.อ.พงศพัศ” ประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจมั่นใจ เกลี่ยตำแหน่งพนักงานสอบสวนไร้ปัญหา ระบุกำหนดตำแหน่งเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ทันแต่งตั้งพร้อมวาระประจำปี 2558

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนให้สอดคล้องกับโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชา ตร. โดยมี พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม ผู้ช่วยผบ.ตร. ตัวแทนจากทุกกองบัญชาการ เข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเรื่องการกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวน จากการพูดคุยกับพนักงานสอบสวนในระดับล่าง รวมถึงผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ไม่มีข้อขัดข้องในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หน.คสช.) ที่ 7/2559 เรื่องการบริหารจัดการในระดับสถานีตำรวจใหม่เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ส่วนข้อเรียกร้องของพนักงานสอบสวน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. การกำหนดตำแหน่งของพนักงานสอบสวน ซึ่งได้หารือว่าทุกฝ่ายต่างเข้าใจว่าอยากทำงานสอบสวนต่อไป แต่ให้ความเห็นว่าในการกำหนดตำแหน่งของพนักงานสอบสวนในระดับสถานีตำรวจอยากให้คำนึงถึงปริมาณคดีที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องที่ เหมือนกันการประเมินผลงานของพนักงานสอบสวน เช่น จำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนทำในแต่ละปี

2. เรื่องความเจริญก้าวหน้า ทางพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่สามารถโยกย้ายหรือทำงานในส่วนอื่นได้ ซึ่งเป็นประตูที่ให้พนักงานสอบสวนขยับตัวเองได้ 3. ค่าตอบแทน อาจจะมีค่าตอบแทนบางส่วนหายไปหรืออาจไม่เท่าเดิม ซึ่งได้ชี้แจ้งกลับไปว่า ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ประสานกับรัฐบาลเพื่อนำเงินในส่วนนี้กลับคืนมา เนื่องจากเป็นเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมด้านงานสอบสวนที่ควรได้เงินเทียบเท่ากับบุคลากรด้านอำนวยความยุติธรรมในองค์กรอื่น คาดว่าทางรัฐบาลมีความเห็นด้วยที่จะปรับค่าตอบแทนอย่างแน่นอน รวมถึงสิทธิประโยชน์ของตำรวจสายงานอื่นๆ จะไม่ให้เกิดข้อเปรียบเทียบหรือเสียผลประโยชน์ใดๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง และ 4. การกำหนดตำแหน่งระดับ พ.ต.อ.ขึ้นไปซึ่งกำลังหารือกับ ผบ.ตร.ว่าควรจะกำหนดจำนวนคนไว้ที่กองบังคับการหรือสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกี่นาย โดยต้องพิจารณาจากจำนวนคดีในแต่ละจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปอยู่ที่กองบัญชาการ หรือในแต่ละกองบัญชาการอาจจะมีกองบังคับการสืบสวนสอบสวนหรือกองบังคับการเรื่องกฎหมายคดีซึ่งต้องอยู่ในตำแหน่งหลักที่สามารถเติบโตต่อไปได้

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ต้องกำหนดกรอบว่าในแต่ละภาคหรือจังหวัดมีตำแหน่งพนักงานสอบสวนเท่าใด หากเกิน 11,000 คน หรือเกินกว่าจำนวนพนักงานสอบสวนที่มีอยู่ขณะนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็จะแต่งตั้งตำรวจทุกนายให้ลงในตำแหน่งได้ ในส่วนที่ว่างอยู่นั้นก็จะเตรียมการไว้สำหรับการแต่งตั้งครั้งใหม่ ทาง ผบ.ตร.ให้นโยบายไว้ว่าพนักงานสอบสวนทั้งหมดที่ปรับตำแหน่งใหม่สามารถเข้ามาสู่กระบวนการแต่งตั้งในระดับรอง ผบก.-สว.วาระประจำปี 2558 ซึ่งจะมีขึ้นภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยผบ.ตร.ย้ำในที่ประชุม ก.ตร.ว่าการแต่งตั้งจะไม่มีการขยายเวลาอีกแล้วและชัดเจนว่าจะใช้กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งฯ ปี 2549 เป็นหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องของสหพันธ์พนักงานสอบสวนที่มีการยกเลิกบทบาทไป รวมถึงสำเนาคำร้องจาก พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล ในฐานะเลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนที่เคยยื่นเอกสารข้อร้องเรียนต่อทำเนียบรัฐบาลนั้น ขณะนี้ทาง ตร. ได้รับเอกสารทั้งหมดจากพนักงานสอบสวนที่มีความเห็นต่าง ซึ่งจะนำมาประมวลเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง รวมถึงข้อเสนอแนะจากสมาคมพนักงานสอบสวนด้วย คาดว่าการกำหนดตำแหน่งของพนักงานสอบสวนจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้ ก่อนมีการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับ สว.-รอง ผบก. หากมีการกำหนดตำแหน่งระดับนายพลก็ต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) แต่ขณะนี้ยังไม่ได้บทสรุปว่าจะตั้งกองบังคับการใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับพนักงานสอบสวนในระดับบัญชาการหรือภาคหรือจะกำหนดเป็นกลุ่มงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ขอให้พนักงานสอบสวนคลายข้อกังวลว่าจะทำให้เกิดความสมดุลมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการปรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนระดับ พ.ต.อ.ขึ้นไปจะไม่ได้ค่าตอบแทน มีการแก้ปัญหาอย่างไร พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ทาง ผบ.ตร.ได้หารือกับทางรัฐบาลในส่วนค่าตอบแทนที่หายไป เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ที่ควรได้รับ ส่วนข้อสรุปนั้นก็ต้องรอทางรัฐบาลประสานมาอีกครั้ง ส่วนเงินที่หายไปนั้นจะใช้มาตรา 44 นำเงินกลับมาหรือไม่นั้น ก็ต้องปรึกษากับกระทรวงการคลัง หากรัฐบาลมีความเห็นเดียวกัน ก็จะแปรญัตติเรื่องงบประมาณประจำปีเข้าไป ต้องยอมรับว่าเมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ออกมา เงินเพิ่มของพนักงานสอบสวนหายไปทันที โดยเฉพาะระดับพ.ต.อ.ขึ้นไป ดังนั้นเมื่อสิ่งที่เคยได้รับหาย ก็ควรต้องให้ได้คืน ในกรณีที่ตำรวจผู้นั้นยังทำงานสอบสวนอยู่

เมื่อถามว่า พนักงานสอบสวนมีโอกาสเติบโตในสายงานอื่น แต่ในขณะเดียวกันสายงานอื่นจะเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนทดแทนหรือไม่ พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ต้องรอการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายก่อน เพราะก็ต้องมีการโยกย้ายครบทุกตำแหน่งอยู่แล้ว หากพนักงานสอบสวนอยากไปอยู่ที่อื่นก็ไปได้ ฝ่ายอื่นอยากจะมาเป็นพนักงานสอบสวนจำนวนเท่าไหร่ ตรงนี้ก็ยังไม่ทราบ แต่หากพิจารณาจากภาพรวมแล้วทุกตำแหน่งก็จะมีคนทำงาน

เมื่อถามว่า การเอาสองตำแหน่งมาอยู่ในตำแหน่งเดียว โอกาสที่เติบโตมีการแข่งขันกันสูง พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า เรื่องนี้มีข้อดีและข้อเสีย ซึ่งคนเก่าที่อยู่ในระบบเดิมอาจคิดว่าพนักงานสอบสวนมาแย่งตำแหน่ง ฉะนั้นคนที่อยู่ในตำแหน่งเดิมก็ต้องดีดตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของการแต่งตั้งผู้กำกับหรือหัวหน้าสถานี ก็ต้องมีความเข้มข้นขึ้น เพราะหัวหน้าสถานีต้องผ่านงานด้านพนักงานสอบสวนมาเช่นเดียวกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น